คู่มือการตรวจเช็ค By Bike-Boulevard ควรเช็คส่วนไหนก่อนซื้อจักรยานมือสองบ้าง?

คุณภาพสินค้ามาตรฐาน ต้อง Bike-Boulevard

ผู้ดูแล: B Team

กฏการใช้บอร์ด
คุณภาพสินค้ามาตรฐาน ต้อง Bike-Boulevard
ตอบกลับ
B Team
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 211
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2013, 18:23
Tel: 092-452-6264

คู่มือการตรวจเช็ค By Bike-Boulevard ควรเช็คส่วนไหนก่อนซื้อจักรยานมือสองบ้าง?

โพสต์ โดย B Team »

การตรวจเช็ครถมือ 2_201224_6.jpg
การตรวจเช็ครถมือ 2_201224_6.jpg (163.23 KiB) เข้าดูแล้ว 1309 ครั้ง
การออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีนักปั่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเยอะมากและแน่นอนว่าเมื่ออยากปั่นจักรยานก็ต้องซื้อจักรยาน อย่างที่ทุกท่านทราบดีว่าราคาของจักรยานเสือหมอบค่อนข้างแพงตามคุณภาพและอุปกรณ์ที่ติดมากับรถ จักรยานมือสองจึงเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักปั่นทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า แต่ด้วยราคาของจักรยานเสือหมอบมือสองที่ถูกกว่ามือหนึ่งมากก็ต้องแลกมาด้วยการเสื่อมสภาพของอะไหล่บางชิ้นด้วย วันนี้เราจึงอยากจะเขียนในเรื่องการตรวจเช็คจักรยานมือสองแบบเบื้องต้นไว้เป็นไกด์ไลน์เล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้ที่กำลังมองหาจักรยานมือสองแต่ไม่รู้จะตรวจเช็คจุดไหนอย่างไรดี เพราะถ้าเลือกซื้อไม่ดีอาจเสียค่าเซอร์วิสหลังการซื้อแพงกว่าเราซื้อจักรยานมือหนึ่งรุ่นเริ่มต้นก็ได้
การตรวจเช็ครถมือ 2_201224_0.jpg
การตรวจเช็ครถมือ 2_201224_0.jpg (193.06 KiB) เข้าดูแล้ว 1309 ครั้ง
อย่างแรกที่เราควรต้องเริ่มเช็คเลยก็คือสภาพของเฟรมและสีของรถ ถ้าหากเป็นรถอลูมิเนียมให้เราเริ่มที่ตามจุดต่างๆ ของเฟรมก่อนว่ามีบุบเยอะหรือไม่ตั้งแต่ด้านหน้าไปจนถึงหางหลังของเฟรม ปกติแล้วรอยบุบเราจะสามารถเจอได้ทุกส่วนของเฟรม แต่ส่วนใหญ่เราจะเจอรอยบุบกันที่ท่อนอนและแถวๆ หางหลังเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าหากเจอในจุดหางหลังก็ต้องเช็คองศาของหางหลังเป็นพิเศษด้วยเพราะเราไม่รู้ว่ารถคันนั้นเคยไปล้มหนักๆ แล้วองศามันเบี้ยวหรือไม่และเช็คว่ามีรอยฉีกขาดของวัสดุตามจุดต่างๆ ไหมเป็นต้น เรื่องสีของเฟรมอลูมิเนียมส่วนใหญ่จะเจอในกรณีรถเก่าแล้วลายสติ๊กเกอร์ที่ติดมาแตกลายงาหรือสติ๊กเกอร์มันหลุดล่อน ซึ่งเราก็ต้องดูตามความเหมาะสมกับราคาแล้วแต่ว่าเรานั้นจะรับได้หรือไม่ แต่ว่าการที่สติ๊กเกอร์แตกเป็นลายก็ไม่ได้มีผลต่อการใช้งานแต่แค่มีผลต่อจิตใจและความสวยงามของจักรยาน ซึ่งสาเหตุที่สติ๊กเกอร์แตกลายงาหรือหลุดล่อนเนื่องจากการใช้งานที่ยาวนานหรือว่ามีการตากแดดตากฝนบ่อย หรือ อีกกรณีคือไม่ได้จอดในร่มแต่จอดตากแดดตากฝนเยอะจึงทำให้ตัวสติ๊กเกอร์กรอบแตกและสีจะจางลงครับ
การตรวจเช็ครถมือ 2_201224_1.jpg
การตรวจเช็ครถมือ 2_201224_1.jpg (179.93 KiB) เข้าดูแล้ว 1309 ครั้ง
ถ้าหากเป็นกรณีของเฟรมคาร์บอนยิ่งต้องเช็คเป็นพิเศษซึ่งเฟรมคาร์บอนเราจะไม่เจอในเรื่องขององศาบางจุดของเฟรมเบี้ยว นอกเสียจากมันจะเบี้ยวมาตั้งแต่กระบวนการผลิตแล้ว ซึ่งในสมัยก่อนจะพบกรณีนี้กันในจักรยานแบรนด์จีนราคาถูกส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันปัญหานี้เริ่มลดน้อยลงแล้วเนื่องจากจักรยานแบรนด์จีนก็มีการพัฒนากระบวนการการผลิตมาอย่างยาวนาน ปัญหาที่จะเจอในเฟรมคาร์บอนมือสองคือพบปัญหาการแตกของเฟรมไปเลย ซึ่งถามว่ามันซ่อมได้ไหม? ก็มีวิธีที่สามารถซ่อมได้แต่จะดีเหมือนเดิม สวยงามเหมือนเดิมหรือคุณภาพจะดีเท่าเดิมหรือไม่ก็เป็นเรื่องเป็นอีกเรื่อง ซึ่งจุดนี้ก็เป็นความไม่สบายใจของผู้ที่จะซื้อจักรยานมือสองแล้ว เพราะฉะนั้นเราควรเช็คให้ดีว่าเฟรมคาร์บอนมีรอยแตกหรือไม่หรือมีรอยการซ่อมเฟรมคาร์บอนมาหรือเปล่า บางกรณีเราไม่เจอรอยแตกแต่มีแค่รอยร้าวเล็กๆ ซึ่งเมื่อปั่นไปนานๆ อาจจะทำให้เฟรมแตกได้ เป็นเรื่องที่อันตรายมาก ในเรื่องสีของเฟรมคาร์บอนเราจะไม่ค่อยเจอปัญหาแบบเฟรมอลูมิเนียมแต่เราจะเจอเป็นกรณีของสีด่าง สีหลุด หรือมีรอยเสียมากกว่า เพราะฉะนั้นเช็คให้ดีว่าเหมาะสมกับราคาแล้วหรือไม่ถ้าหากจะซื้อ
การตรวจเช็ครถมือ 2_201224_5.jpg
การตรวจเช็ครถมือ 2_201224_5.jpg (124.31 KiB) เข้าดูแล้ว 1309 ครั้ง
จุดที่ต้องสนใจเป็นพิเศษและอยู่ใกล้ๆ กับเฟรมของเราก็คือตะเกียบ เพราะว่าตะเกียบเป็นจุดที่รับแรงสั่นสะเทือนจากล้อค่อนข้างเยอะ และถ้าหากล้มตะเกียบจะเป็นอีกจุดที่ได้รับผลกระทบเยอะเช่นกัน การเช็คก็คล้ายๆ กับการเช็คเฟรม คือดูว่ามีรอยบุบ รอยแตก รอยร้าว มีรอยฉีกขาด หรือตะเกียบเบี้ยวไหมในกรณีวัสดุเป็นอลูมิเนียม เคยมีกรณีที่นักปั่นซื้อเฟรมเซ็ตไปแล้วปั่นอยู่ดีๆ ตะเกียบหักครึ่งล้อหลุดจนประสบอุบัติเหตุเข้าโรงพยาบาลก็มีมาแล้วนะครับเพราะฉะนั้นเราต้องเช็คจุดนี้เป็นพิเศษ อีกจุดที่ควรต้องดูให้ดีๆ คือจุดเป็นตัวคีบดุมล้อที่เราจะต้องใช้แกนปลดพับเข้า ถ้าหากวัสดุตรงจุดนั้นชำรุดมีการสึกหรอหรือแตกร้าวก็ไม่น่าซื้อเท่าไหร่ เพราะว่ามันอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุในอนาคตได้ แต่ถ้าสึกหรอไม่เท่าไหร่ก็แล้วแต่จะพิจารณาครับว่าเหมาะสมหรือไม่
การตรวจเช็ครถมือ 2_201224_2.jpg
การตรวจเช็ครถมือ 2_201224_2.jpg (121.39 KiB) เข้าดูแล้ว 1309 ครั้ง
ถ้าหากรถจักรยานมือสองที่เราจะซื้อมีล้อติดมาด้วยก็ควรเช็คล้อก่อน แต่ถ้าหากผู้ปั่นมีล้อที่ใช้งานประจำแล้วไม่ได้ซีเรียสเรื่องล้อก็ไม่จำเป็นต้องเช็คครับ แต่ถ้าหากยังไม่มีล้อเลยสักคู่ แนะนำว่าให้เช็คล้อติดรถด้วย โดยให้เราดูที่ขอบล้อว่าผ่านการใช้งานมาเยอะไหมขอบล้อสึกหรอเกินไปหรือเปล่า วัสดุของตัวล้อนั่นมีรอยแตกร้าวหรือไม่ ซี่ลวดขาดหรือล้อเบี้ยวหรือไม่ แล้วก็เช็คความลื่นของลูกปืนล้อโดยให้ลองหมุนล้อดูว่าลื่นไหม ถ้าหากไม่ลื่นอาจจะเกิดจากการขาดการเซอร์วิส แต่ถ้าหากลองปั่นแล้วไม่ลื่นแถมมีเสียงดังแกร๊กๆ ก็อาจจะเป็นได้ที่ลูกปืนล้อมีความคลอนหรือแตกได้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นเรื่องล้อเราควรเช็คในละเอียด รวมถึงแกนปลดล้อด้วยถ้าหากแกนปลดงอก็อย่าลืมตรวจดูครับ เราจะได้รู้ว่าสภาพที่เราเจอนั้นเหมาะสมกับราคาไหม หรือ สมควรที่จะลงทุนกับรถจักรยานมือสองคันนี้ไหม
การตรวจเช็ครถมือ 2_201224_7.jpg
การตรวจเช็ครถมือ 2_201224_7.jpg (119.52 KiB) เข้าดูแล้ว 1309 ครั้ง
เรื่องเบรกเป็นเรื่องของความปลอดภัยของผู้ปั่นเพราะฉะนั้นเราจะมองข้ามไปไม่ได้ เราจะต้องเช็คด้วยการลองกำเบรกดูทุกครั้งว่าเมื่อกำไปแล้วเบรกทำงานปกติหรือไม่ กำแล้วมันคลายตัวปกติดีไหม หรือว่ากำแล้วฝืดไหม ถ้าหากฝืดอาจจะเกิดได้จากสปริงก้ามเบรกเป็นสนิมหรือเบรกอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ หรือว่าสายสลิงเบรกนั้นเริ่มเก่าแล้ว แต่ถ้าในกรณีที่เกิดจากสายสลิงเบรกมันเก่าเลยฝืดเราไม่ต้องซีเรียสมากก็ได้เพราะว่าเมื่อเราตัดสินใจซื้อมาแล้วเราก็ต้องเซอร์วิสในส่วนนี้อยู่ดีซึ่งราคาในการเดินสายเบรกสายเกียร์ เปลี่ยนท่อสาย เปลี่ยนสายสลิงเบรกสายสลิงเกียร์ ก็ไม่ได้มีราคาที่แพงมาก แต่ถ้าหากเกิดจากเบรกไม่สมบูรณ์เบรกทำงานได้ไม่เต็มที่กำแล้วไม่คลายตัวเบรกเสียก็อาจจะต้องพิจารณาหน่อยกับค่าตัวของรถคันนั้นเพราะว่าถ้าหากซื้อไปแล้วต้องเปลี่ยนก้ามเบรกก็ค่อนข้างจะแพง
การตรวจเช็ครถมือ 2_201224_4.jpg
การตรวจเช็ครถมือ 2_201224_4.jpg (144.89 KiB) เข้าดูแล้ว 1309 ครั้ง
ชุดขับเป็นหัวใจของจักรยานเลยก็ว่าได้ โดยชุดขับนั้นจะประกอบด้วย ชิฟเตอร์ เบรก สับจาน ขาจานและใบจาน โซ่ ตีนผี เฟืองหลัง ทั้งหมด 7 ชิ้น ถ้าเป็นระบบดิสก์เบรกก็จะมีใบดิสก์เพิ่มขึ้นมา โดยการเช็คคือเราต้องดูที่ฟันของใบจานและเฟืองหลังก่อนว่ามีการสึกหรอเยอะไหมครับ บางท่านซื้อจักรยานมือสองแบรนด์ดังๆ มาในราคาที่ดูคุ้มค่าแต่ลืมดูใบจานและเฟืองหลังว่าใช้งานได้อีกไม่นาน สุดท้ายแล้วก็ต้องเปลี่ยนเฟืองหลังและใบจานเลย ต่อไปคือการเช็คการทำงานของตีนผีและสับจานดูว่าทำงานได้ปกติทุกเกียร์หรือไม่ ถ้าหากทำงานปกติแต่เกียร์เพี้ยนก็ไม่ต้องซีเรียสเพราะว่าอาการเกียร์เพี้ยนอาจจะเกิดขึ้นได้จากดรอปเอาท์เอียงหรือว่าเราไม่ได้จูนเกียร์ โดยทั่วไปเราแค่ลองเช็คดูว่าเมื่อเราสับเกียร์แล้วมันขึ้นตามที่เราเปลี่ยนหรือไม่ก็เพียงพอ สุดท้ายคือการดูโซ่ว่าเสื่อมสภาพแล้วหรือไม่เพราะโซ่ที่สึกหรอตามอายุการใช้งานมันจะส่งผลกระทบต่อใบจานและเฟืองหลังได้ และอาจจะส่งผลทำให้เกิดอาการเกียร์เพี้ยนได้อีกด้วย ถ้าหากรถที่เราจะซื้อเป็นระบบดิสก์เบรกก็อย่างลืมเช็คใบดิสก์ว่าเบี้ยวหรือไม่หรือกำไปแล้วคาลิปเปอร์เบรกทำงานปกติไหมด้วยครับ
การตรวจเช็ครถมือ 2_201224_3.jpg
การตรวจเช็ครถมือ 2_201224_3.jpg (158.21 KiB) เข้าดูแล้ว 1309 ครั้ง
จุดค็อกพิทสำหรับจักรยานคือ แฮนเดิลบาร์ สเต็ม หลักอาน และ เบาะ หลักๆ จุดนี้จะดูคล้ายๆ กับการดูเฟรมว่ามีรอยบุบไหม มีรอยแตกร้าว เอียง เบี้ยว หรือไม่ น็อตและวัสดุของแต่ละจุดยังอยู่ในสภาพที่ดีไหม ทั้งนี้ยังรวมถึงจุดที่เป็นท่อนั่งของจักรยานอีกด้วยว่าตรงท็อปของท่อนั่งที่เราจะใช้ใส่หลักอานนั้นมีรอยแตกร้าวหรือไม่ โดยให้ผู้ซื้อนั้นลองดูที่ด้านใต้ของตัวรัดหลักอานให้ดีๆ เพราะบางทีการฉีกขาดหรือการแตกร้าวที่จุดนี้เป็นสิ่งที่มองออกยากมาด้วยความที่มีตัวรัดหลักอานบังอยู่ การแตกร้าวของจุดนี้อาจจะทำให้จักรยานรองรับน้ำหนักและแรงที่ส่งมาจากตัวเราได้ไม่เต็มที่ ยิ่งไปกว่านั้นในอนาคตอาจจะเกิดการฉีกขาดเพิ่มได้อีกจากรอยเก่า
ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการเช็คจุดต่างๆ แบบเบื้องต้น ในส่วนที่ลึกกว่านี้มีอีกหลายจุดซึ่งเป็นจุดที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะทางในการตรวจสอบก็แนะนำว่าให้ลองเช็คเบื้องต้นตามนี้ดูก่อนแล้วเมื่อเราซื้อจักรยานมือสองมาแล้วก็ควรนำไปฟูลเซอร์วิสก่อนที่เราจะนำไปปั่นจริงจะได้ส่งผลดีต่อตัวผู้ปั่นครับ อย่าลืมนะครับว่าถึงจักรยานมือสองแบรนด์ดีๆ ที่ราคาดีๆ อาจจะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากับผู้ที่อยากเริ่มปั่นจักรยานมากกว่า แต่เราก็ไม่ควรมองข้ามในเรื่องการตรวจเช็คเบื้องต้นเหล่านี้ เพราะถ้าหากเราตรวจเช็คไม่เป็นเราอาจจะต้องเสียเงินค่าเซอร์วิสเพิ่มขึ้นจากราคาค่าตัวของจักรยานคันนั้นอีกเท่าไหร่ก็ไม่สามารถประมาณค่าได้เลยครับผม
รูปภาพ
ติดต่อ 092-452-6264
sales@bike-boulevard.com
Line: @bike-boulevard
คลิกเพื่อดู facebook
ตอบกลับ

กลับไปยัง “Bike-Boulevard”