.....'' ปฏิวัติตนเองสู่วิถีปี 52 ......''

ผู้ดูแล: เนิ่ม ชมภูศรี

กฏการใช้บอร์ด
ศูนย์ฝึกจักรยานกองบิน 46 PBC PHITSANULOK
เนิ่ม ชมภูศรี 081-7533298
รูปประจำตัวสมาชิก
เนิ่ม ชมภูศรี
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 6448
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ส.ค. 2008, 21:02
Tel: 081 7533298
team: ศูนย์ฝึกจักรยานกองบิน 46 PBC PHITSANULOK
Bike: connago....KAZA...GIANT...GT....

Re: .....'' ปฏิวัติตนเองสู่วิถีปี 52 ......''

โพสต์ โดย เนิ่ม ชมภูศรี »

ห่างหายจากเวทีสาธารณะแห่งนี้ไปนานหลายวัน ด้วยเรื่องของอินเตอร์เนท..ที่ไม่สามารถใช้งานได้ แต่เรื่องการฝึกซ้อมจักรยานของตนเองนั้น ยังคงเป็นไปแบบอย่างต่อเนื่อง....

นับเวลาที่เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงตนเองมานี้นั้น อายุรวมก็เกือบจะได้สองเดือนแล้ว จากต้นปีใหม่จนมาถึงวันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงทาทงด้านร่างกายเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เริ่มต้นด้วยน้ำหนักที่ลดลงจากเดิมไปหลายกิโลกรัม อัตราการเต้นของหัวใจ ชีพจรขณะพักได้ทำการตรวจนับตนเองทุกเช้า เป็นข้อบ่งชี้ชัดว่า ร่างกายของเราดีขึ้น โดยก่อนเริ่มต้นทำการฝึกซ้อม ชีพจรตอนเช้าเต้นอยู่ที่ 82 ครั้งต่อนาที หลังจากที่ขี่จักรยานมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาเดือนกว่า ล่าสุดเมื่อเช้าวันนี้ ได้ทำการจับชีพจรตอนเช้าช่วงตื่นนอนใหม่ ๆ พบว่าอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักอยู่ที่ 58 ครั้งต่อนาที

เรื่องการตรวจเช็คชีพจรของตัวเองในตอนเช้า เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเราจะทราบได้ว่า แผนการหรือโปรแกรมการฝึกซ้อมที่ได้วางไว้ ดีหรือไม่ดีขึ้นอย่างไร ซึ่งการติดต่อกับร่างกายภายในของตัวเองที่นอกจากเป็นเรื่องความรู้สึกนึกคิดแล้ว อัตราการเต้นของหัวใจเราก็เป็นข้อสังเกตุได้เป็นอย่างดียิ่ง

เริ่มต้นทักทายกันด้วยการสร้างวินัยให้กับตัวเอง ด้วยการตรวจจับชีพจรในขณะที่ตื่นนอน ถ้าหากเราทำเป็นประจำทุกวัน แล้วจดบันทึกไว้ในสมุดเล่มรายงานผลการฝึกประจำตัว เราจะพบเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ถ้าการฝึกซ้อมมีความหนักเกินไป ร่างกายฟื้นสภาพไม่ทัน ชีพจรขณะพักจะบอกเราให้ทราบได้ด้วยอัตราการเต้นที่สูงกว่าปกติ ดังตัวอย่างของข้าพเจ้า เมื่อตรวจเช็คชีพจรของตนเองอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทราบได้ว่า การขี่จักรยานของตนเองนั้น อยู่ในสภาวะสมดุล ไม่หนักเกินไป ระยะเวลาพักกับการเริ่มต้นซ้อมใหม่ มีระยะการเริ่มต้นที่การกำจัดของเสียสะสมหมดไปจากระบบกล้ามเนื้อ และการฟื้นสภาพ เติมถังพลังงานเชื้อเพลิงให้กับกล้ามเนื้อพอดีกัน การเฝ้าสังเกตุตนเองเช่นนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยไขให้เราสามารถทำการขี่จักรยานได้ด้วยสภาวะที่ลงตัวกับการสร้างขึ้นคืนกลับ...ของระบบพลังงานสำรอง

หากเราไม่เรียนรู้เรื่องอัตราการเต้นของหัวใจ เราจะเหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร เพราะซ้อมเท่าใดก็ม่ดีขึ้นมาเลย ตัวอย่างของข้าพเจ้า นับเนื่องจากการเริ่มต้นการขี่จักรยานมาในห้วงเกือบสองเดือน ชีพจรเริ่มต้นก่อนซ้อมอยู่ที่ 82 ครั้งต่อนาที และเมื่อเริ่มต้นเปลี่ยนตนเองด้วยการวางแผนการฝึกจักรยานให้กับตัวเอง ตอนนี้ชีพจรลดลงมาเหลือ 58 ตรั้งต่อนาทีแล้ว มีความตั้งใจไว้ว่า จะทำการฝึกซ้อมให้อัตราการเต้นหัวใจขณะพักในตอนเช้าลดลงเหลือประมาณ 52 ครั้งต่อนาที ในอีกสามเดือนข้างหน้าครับ......
รูปประจำตัวสมาชิก
เนิ่ม ชมภูศรี
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 6448
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ส.ค. 2008, 21:02
Tel: 081 7533298
team: ศูนย์ฝึกจักรยานกองบิน 46 PBC PHITSANULOK
Bike: connago....KAZA...GIANT...GT....

Re: .....'' ปฏิวัติตนเองสู่วิถีปี 52 ......''

โพสต์ โดย เนิ่ม ชมภูศรี »

และเมื่อตรวจเช็ดชีพจรของตัวเองเรียบร้อยแล้ว จึงได้ออกไปฝึกซ้อม วันนี้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะทำการขี่จักรยานด้วยระยะเวลาประมาณ 2 ช.ม. โดยแบ่งการขี่ออกเป็นดังนี้ 20 นาทีแรกเริ่มต้นด้วยการขี่แบบปรับสภาพร่างกาย 1 ชั่วโมงต่อไปปรับเปลี่ยนเป็นขี่ความเข้มข้นสูง รอบขาต่ำกว่า 80 รอบต่อนาที หลังจากนั้นเป็นการขี่เพื่อคูลร์ดาวลดความเร็วเพื่อเผาผลาญไขมัน และฝึกร่างกายให้ได้ใช้ไขมันเป็นเชื้อเพลิง สำหรับช่วงความเข้มข้นสูงนั้น เป็นการขี่ที่ใช้แหล่งพลังงานอาหารจากสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ...เมื่อจูงรถจักรยานและออกปั่นวาดวงรอบในช่วงแรก ๆ นั้น ค่อนข้างจะเกิดความรู้สึกที่ตึงไปทั่วทั้งร่างกาย ภายในใจคิดไปว่าขอขี่แบบไปเรื่อย ๆ ดีกว่า การขี่ในช่วงแรกใส่ใบจานที่ความหนักของจานหน้าใบสอง คือ 32 ฟัน เฟืองหลังอยู่กลุ่มโซลตัวที่ 4 นับจากข้างบน รอบขาอยู่ทีประมาณ 100 รอบต่อนาที ซึ่งในช่วงสิบนาทีแรกนั้น ค่อนข้างจะขี่ไปได้ไม่คล่องตัวนัก

ดูจากชีพจรตัวเอง ค่อนข้างมั่นใจว่าวันนี้จะสามารถขี่ได้ตามเป้าหมาย โดยเมื่อประเมินค่าความรู้สึกสำหรับพลังของกล้ามเนื้อตัวเอง บอกได้ว่าวันนี้ไม่มีความเมื่อยล้าปรากฎอยู่ ขี่ไปได้สัก 20 นาที ร่างกายเริ่มเกิดความเคยชินต่อรอบขาที่สูงขึ้น ความเร็วของการวาดวงรอบส่งแรงสู่ลูกบันใดเริ่มเร็วขึ้น รอบขาจากเดิมในช่วงแรกประมาณ 100 รอบต่อนาที ได้เพิ่มขึ้นมาเองอย่างไร้ความพยายามที่จะทำให้เร็วขึ้น และเมื่อทำการตรวจเช็ครอบขาได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 110 รอบต่อนาที


ขี่อบอุ่นร่างกายจนเครื่องติด ในนาทีที่ 30 จึงเริ่มต้นด้วยการขี่ฝึกซ้อมแบบเอาชนะแรงต้านทาน ด้วยการปรับเปลี่ยนจานหน้าจากใบจานที่ 2 เป็นใบจานหน้าใหญ่ 44 ฟัน ตามด้วยการไล่เฟืองหลังลงไปทีละเฟือง จนมาหยุดอยู่ที่ระดับเฟืองที่ 3 นับจากข้างล่าง คือ 14 ฟัน เพื่อทำการฝึกปั่นสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ รอบขาต่ำกว่า 80 รอบต่อนาที ที่รอบขาต่ำเช่นนี้ มิได้หมายความว่าจะขี่ไปแบบเรื่อย ๆ หากแต่เป็นการขี่โหลดหนัก และพยายามที่จะปั่นไปให้เร็วที่สุด ระดับความเข้มข้นในเช้าวันนี้ จึงอยู่ที่ใบจานหน้า 44 x 14 อัตราการเต้นหัวใจอยู่ปริ่ม ๆ โซน 3 ใกล้จะเลยไปถึงโซน 4 คือถ้าปั่นเร็วกว่านี้ต้องจอด แต่ก็พยายามคลุมความเร็วในการปั่นและรักษาระดับความหนักไว้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาได้ 1 ช.ม.

ในระหว่างการฝึกขี่เพื่อเอาชนะแรงต้านทานนั้น เป็นการขี่ที่ถ้าคนไม่รักจริงจะค่อนข้างทำได้อย่างลำบาก เพราะอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะการปั่นนั้น คือเรื่องของความนึกคิด ที่พยายามสื่อสารกับตัวองตลอดว่า โอย พอเถอะ ..โอดครวญกับอาการความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อ ข้าพเจ้าจะเลิกปั่นก็หลายครั้ง แต่เมื่อเราเรียนรู้ว่าวัตถุประสงค์ของการปั่นของเราให้ได้ก่อนนี้นั้น จะทำให้เราสามารถที่จะเอาชนะอุปสรรคต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบกล้ามเนื้อ จากการกำจัดสภาวะความเป็นกรด และของเสียสะสมที่เพิ่มขึ้นจนรับรู้ได้
.
เส้นทางที่ข้าพเจ้าเลือกใช้ฝึกซ้อมนั้น เป็นแบบวงรอบ รอบละ 15 นาที อุปสรรคของการฝึกขี่แบบวงรอบที่ชัดเจนประการแรกคือเรื่องของจุดเลี้ยวกลับ เพราะเวลาที่รถจักรยานลอยตัวแล้ว เราสารถที่จะรักษารอบขาต่อความหนักได้ แต่เมื่อใกล้จุดเลี้ยวกลับ ต้องลดความเร็วของจักรยานลงเพื่อที่จะเลี้ยวได้อย่างปลอดภัย และเมื่อเลี้ยวกลับตัวได้แล้ว ต้องยืนโยกรถเพื่อที่จะดึงความเร็วให้สูงขึ้น ช่วงนี้แหละที่การเกิดขึ้นของกรดและของเสียไม่สามารถกำจัดได้ทัน อาการปวดร้าวทั้งขาเกิดขึ้นตลอด จำเป็นจะต้องเรียนรู้เรื่องเทคนิคทักษะในการยืนโยกรถจักรยานเพื่อจะให้ความเร็วสูงขึ้น ซึ่งการเรียนรู้ของข้าพเจ้า คือการพยายามที่จะไม่วิ่งหนีความเจ็บปวด แต่กลับอัดความเร็ว พยายามกดบันใดให้เร็วขึ้นไปอีกเพื่อการพัฒนาต่อการยืนโยกรถจักรยาน แน่นอนว่าในวันแรกเรายังทำได้ไม่ดีมากนัก แต่เมื่อเราฝึกซ้อมไปเรื่อย ๆ ทำให้เกิดความเคยชินต่อความเจ็บปวด เราจะอดทนต่ออุปสรรคที่หลาย ๆ คนไม่อยากพานพบ นั้นคือเรื่องของกรดไฮโดรเจน อิออน ( นพ.สานิตย์ แซ่ลิ้ม เขียนไว้ ) ที่เป็นของเสียสะสม จนทำให้กล้ามเนื้อไม่สามรถที่จะปั่นจักรยานต่อไปได้ ถ้าจะไปต่อหรือขี่ต่อไป จำเป็นต้องลดความเร็วลง เพื่อให้เกิดการกำจัดของเสียสะสมก่อน เมื่อร่างกายฟื้นสภาพ การเริ่มต้นขี่ใหม่ด้วยความเร็วต่อไปจึงเกิดขึ้น

ความจริงข้อนี้คือสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขอให้รับรู้ไว้เสมอว่า การเกิดขึ้นของกรดเมื่อเราทำงานหนัก คือสิ่งที่เราต้องเผชิญ การที่จะรับรู้และยอมรับได้กับสภาพสภาวะความเป็นกรด คือกุญแจสำคัญประการหนึ่งเช่นกัน ที่เราจะมีความสามารถอดทนขึ้นที่สูงไปจากเดิมได้ ขอให้เข้าใจหลักการพื้นฐาน เมื่อเราดันพื้นครั้งแรก เราทำได้ประมาณ 10 ครั้ง หากเราไม่เพิ่มเป็น 12 ครั้งในโอกาสอันเหมาะสม ร่างกายจะไม่เกิดการพัฒนา เช่นเดียวกัน การไม่กล้าเผชิญกับสภาวะความเป็นกรด ของเสียสะสม ความเหนื่อย ความเมื่อยล้า เราก็ไม่สามารถทะลุกำแพงก้าวข้ามไปปั่นที่ความเร็วสูงจากเดิมได้เช่นกัน ....
รูปประจำตัวสมาชิก
เนิ่ม ชมภูศรี
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 6448
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ส.ค. 2008, 21:02
Tel: 081 7533298
team: ศูนย์ฝึกจักรยานกองบิน 46 PBC PHITSANULOK
Bike: connago....KAZA...GIANT...GT....

Re: .....'' ปฏิวัติตนเองสู่วิถีปี 52 ......''

โพสต์ โดย เนิ่ม ชมภูศรี »

สรุปการฝึกซ้อมในห้วง MIKRO ที่ 3 มีระยะเวลา 9 วัน ขอไล่ชีพจรขณะพักให้ท่านลองวิเคราะห์กันดู เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ชีพจรขณะพักในตอนเช้าเต้นอยู่ที่ 62 และในวันต่อไปตามลำดับจนครบ MIKRO ที่ 3 ดังนี้ 58 / 52 / 58 / 60 / 66 / 62 / 68 / 66 และจนถึงวันพุธที่ 25 ก.พ. 52 ชีพจรขณะพักเต้นอยู่ที่ 62 ครั้งต่อนา .
.
เมื่อแจงรายละเอียดตารางการฝึกซ้อม ขอเล่าเป็นแนวทางให้ท่านทราบได้ดังนี้ครับ โดยในวันแรกของ MIKRO ที่ 3 คือวันจันทร์ที่ 16 ก.พ. สังเกตดูว่าเช้าวันนี้ชีพจรเริ่มลงสู่สภาวะปกติ หลังจากที่ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ไปปั่นทางไกล ระยะเวลาประมาณ 5 ช.ม. ที่อยู่บนอานจักรยาน วันจันทร์จึงเป็นวันที่ใช้เพื่อการฟื้นสภาพร่างกาย ในขณะเดียวกันก็มีการเติมสารอาหารให้กับร่างกายครบทั้ง 5 หมู่ วันนี้มีการทานแบบทั้งวัน ข้าว ผัก ผลไม้ น้ำหวาน ขนมหวาน เพื่อช่วยเร่งการสร้างขึ้นคืนกลับ ให้เกิดการเติมเต็มทดแทนสารอาหารที่พร่องลงไปในขณะออกซ้อมทางไกลในวันที่ผ่านมา การพักในวันนี้ ก็มีกิจกรรมเสริมด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อตลอด ว่างเมื่อใดทำการยืดน่อง ดึงขา ก้มตัว ทำทั้งวัน ไม่จำกัดระยะเวลาว่าจะต้องทำการยืดเหยียดเมื่อใด ผลของการทำดังกล่าว ทำให้รู้สึกสบายขาขึ้นมาด้วยเช่นกัน ไม่ตึงเหมือนช่วงที่ตื่นนอนใหม่ ๆ ...
.
ในวันต่อมา หลังจากพักเพื่อฟื้นสภาพเป็นอย่างดีแล้ว ตื่นเช้าขึ้นมาข้าพเจ้าได้ตรวจสอบชีพจรขณะพักเช่นเดิม ในเช้าวันนี้ ชีพจรเต้นดีขึ้นเมื่อครบระยะเวลา 1 นาที ในการสำรวจ ปรากฏว่าเต้นได้ 58 ครั้ง ต่อนาที โปรแกรมการฝึกซ้อมในวันนี้จึงเลือกการฝึกขี่แบบเอาชนะแรงต้านทาน ได้เขียนไว้เมื่อก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อทำได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ ขากลับบ้านเกิดความภูมิใจในตัวเองเป็นอย่างมาก การขี่จักรยานนี้นั้น นอกจากเรื่องของความมีสุขภาพทางกายที่ดีแล้ว สุขภาวะจิตที่สมบูรณ์ย่อมเกิดขึ้นอย่างเชื่อมโยงกันจากภายนอกสู่ภายในเช่นกัน ซึ่งคงจะกล่าวถึงเรื่องสภาวะทางจิตในโอกาสต่อไปขอรับ......
.
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ไม่อาจจะมองข้ามไปได้ เรื่องชีพจรขณะพักในวันต่อมา หลังจากที่ได้ทำการฝึกปั่นแบบเอาชนะแรงต้านทานเป็นเวลา 1 ช.ม. ในเช้าวันนี้ ปรากฏว่าชีพจรขณะพักลดลงเป็นอย่างมาก โดยเต้นอยู่ที่ 52 ครั้ง ต่อนาที ทำให้มั่นใจตนเองว่า การวางโปรแกรมสำหรับตัวเองนี้นั้น อยู่ในสภาวะแห่งความสมดุลพอดีกับการสร้างขึ้นคืนกลับ และในวันที่ชีพจรเต้น 52 ครั้งต่อนาทีนี้ ข้าพเจ้าไม่ปล่อยให้พลาดโอกาสทอง เช้าวันนั้นจึงทำการขี่แบบรอบขาสูง เหมือนดั่งเป็นการขี่จับเวลา โดยใช้ใบจานหน้าใหญ่ เฟืองหลังอยู่กลุ่มโซนกลาง ระดับรอบขาอยู่ที่ 110 -120 ต่อนาที ชีพจรขณะขี่จักรยานอยู่ที่ โซน 3 ปริ่ม ๆ ขึ้นไปโซน 4 แต่ไม่ถึงโซน 4 โดยฝึกขี่ในระดับที่เรียกว่า ไปเร็วกว่านี้ไม่ได้ ต้องหยุดพัก แต่ขี่เสมออย่างต่อเนื่องไปตลอดระยะเวลา 1 ช.ม. .
.
ผลที่ได้สามารถทำบันทึกเป็นสถิติประจำเดือนของตัวเองได้ดังนี้ ด้วยความเร็วของจักรยาน 31 km/ h ซึ่งดีขึ้นมาจากเดือนที่แล้ว ด้วยระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นในความเร็วเท่ากัน จาก 40 นาทีเป็น 1 ช.ม. ข้าพเจ้าเลือกที่จะเพิ่มความหนักด้วยการเพิ่มระยะเวลาก่อน ที่จะเพิ่มความเร็ว โดยเป้าหมายในเดือนหน้า ความเร็วที่ตั้งใจไว้คือ 31 Km/ h ด้วยการขี่แบบต่อเนื่องจาก 1 ช.ม. เป็น 1.30 ช.ม. ซึ่งกว่าจะเดินทางไปถึงเป้าหมายได้ คงต้องผ่านกระบวนการฝึกซ้อมแบบเพิ่มความเข้มข้นของการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง .
.
การตรวจเช็คชีพจรขณะพักในตอนเช้า จะทำให้ตนเองสามารถประเมินได้ว่า ร่างกายอยู่ในสภาวะที่ต้องการ ๆ พักผ่อนให้มากกว่านี้ก่อนแล้วค่อยเริ่มต้นฝึกซ้อมใหม่หรือพร้อมที่จะฝึกหนักตามโปรแกรม ข้าพเจ้าเลือกความพร้อมในการสร้างขึ้นคืนกลับให้เกิดสภาวะสมดุล และเราจะทราบได้อย่างไรละ ว่าเมื่อใดที่ร่างกายเราเกิดความพร้อม เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ ซึ่งอาจจะไม่ถูกหลักวิชาการเลยก็ได้ ข้าพเจ้าเลือกการตรวจวัดชีพจรขณะพัก ดูที่อัตราการเต้นหัวใจ ดังตัวอย่างเช่น ในวันที่ชีพจรเต้น 52 ครั้งต่อนาที วันนี้เป็นวันที่สมบูรณ์ของตัวเองแล้ว จึงเลือกการขี่เพิ่มระดับความเข้มค้นขึ้นมา .
.
เพื่อการต่อยอดขึ้นไปอีกในเดือนข้างหน้า ถ้าวันไหนชีพจรเกิดสภาวะเกินจุดโหลด แค่เดินลงบันใดบ้าน เราก็ทราบได้แล้วว่า วันนี้ควรจะขี่แบบฟื้นสภาพหรือทำฝึกซ้อมหนักแบบโอเว่อร์โหลด วันที่ชีพจรเต้นเร็วสำหรับตนเองแล้ว วันนั้นจะเลือกการขี่แบบฟื้นสภาพเข้ามาช่วยเร่งการสร้างขึ้นคืนกลับ เราจะทราบได้เองว่า วันไหนควรขี่อย่างไรด้วยการเรียนรู้ตัวเอง บางครั้งโปรแกรมที่วางไว้ไม่ใช่การขี่เบา แต่เรื่องร่างกายมนุษย์ไม่สามารกำหนดได้ บางครั้งช่วงพักร่างกายไม่สามารถเติมถังเชื้อเพลิงที่พร่องลงไปได้อย่างสมบูรณ์ และถึงกับบ่อย ๆ ครั้งเป็นอย่างมาก ที่เราคิดว่าการเติมสารอาหารสมบูรณ์แล้วทุกอย่าง วันพรุ่งนี้น่าจะขี่ได้ตามโปรแกรมที่วางไว้ แต่พอถึงเวลาปั่นจริง ๆ กลับเกิดสภาวะอาการง่อยเปลี้ยเสียขา ร่างกายเหนื่อยล้ามากกว่าปกติก็มีอยู่ให้เห็นเป็นประจำ
.
.
การที่เราจะสามารถขี่จักรยานอย่างสมบูรณ์ได้ลงตัวกับโปรแกรมการแข่งขันและการฝึกซ้อมนั้น ขั้นแรกที่สุดเลย วินัยในตัวเองต้องมีความพร้อม การใส่ใจต่อทุกสภาวะที่เกิดขึ้น ทั้งความรู้สึกนึกคิดในขณะปั่นจักรยาน การมีสำนึกรู้ก่อนการฝึกซ้อม ท่านจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนเรื่องตัวเองก่อน มิเช่นนั้นแล้วเราจะพลาดเรื่องทะลุเพดานการปั่นได้ บางคนบอกว่าความรู้สึกไม่มีความสำคัญ สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ความรู้สึกสำนึกรู้ต่อการปั่นจักรยานของตัวเองนั้น เป็นเรื่องเหนือสิ่งอันใด ถ้าหากเราไม่มีความสำนึกรู้ว่าจะต้องรักษาสุขภาพตัวเอง การออกกำลังกายย่อมไม่เกิดขึ้น และแน่นอน .
.
เรื่องเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์การกีฬามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ไม่เช่นนั้น เราจะไม่ทราบได้ว่าโปรแกรมการฝึกซ้อมของเราดีขึ้นไปขนาดไหน ทั้งสองสิ่งนี้จะต้องผสานสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เกี่ยวโยงกันดั่งทฤษฎีสัมพันธภาพ มนุษย์กว่าจะรู้ว่าเลข 0 มีค่า ก็ใช้เวลาในการศึกษามาหลายช่วงชีวิตคน ถ้าไม่มีสิ่งล้าสมัยในสายตาของหลายคน ก็จะไม่มีสิ่งทันสมัยในอีกหลายคน และก่อนจะเดินทางร่วมสมัยได้ เราต่างย่อมผ่านเรื่องที่หลายคนบอกว่าพ้นผ่านไปแล้วอย่างแน่นอน การฝึกซ้อมจักรยานของข้าพเจ้า เลือกที่จะก้าวล้ำเรื่องดังกล่าวด้วยการเรียนรู้ตัวเองตลอดเวลา เรียนรู้ว่า ในขณะที่ขี่อย่างนี้นั้น ผลดีผลเสียเป็นอย่างไร ทำแล้วได้ผลอย่างไร แล้วนำหลักการทฤษฎีมาประกอบ ทดสอบด้วยตัวเอง ว่าสิ่งที่ทำเกิดผลอย่างไร นั้น คือสิ่งที่เรียกว่าเป็นการเรียนรู้ตัวเองขอรับ ......
.
ประการอันสำคัญยิ่งที่ไม่ควรมองข้ามไป คือเรื่องอย่าได้เชื่อในสิ่งที่กล่าว ขอเชิญท่านทดสอบและเรียนรู้ด้วยตนเอง นั้นจะเป็นพรสวรรค์สำหรับท่าน ที่ร่างกายสมบูรณ์พร้อมด้วยสุขภาวะที่สวยงาม อันเกิดขึ้นกับตนเอง....
ตอบกลับ

กลับไปยัง “ศูนย์ฝึกจักรยานกองบิน 46”