เติมออกซิเจนที่ "บางกระเจ้า"

ผู้ดูแล: Nai_Nueng, eak@สะพานควาย

กฏการใช้บอร์ด
ที่อยู่: 19/25 ซ.อินทามระ 1 ถ.สุทธิสาร สามเสนใน พญาไท กรุงเทพ

โทร: eak@สะพานควาย(0818256352), Nai_Nueng(0816221916)
ตอบกลับ
รูปประจำตัวสมาชิก
eak@สะพานควาย
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 424
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 ส.ค. 2008, 10:59
Tel: 0898954944
team: รวมมิตร;localroad
Bike: GT Avalanche PRO, IF Reach

เติมออกซิเจนที่ "บางกระเจ้า"

โพสต์ โดย eak@สะพานควาย »

สองมือ สองเท้า ออกแรงแข็งขันบังคับจักรยานคันน้อยไปตามเส้นทางในสวนอันร่มรื่นสบายตา สองข้างทางประดับด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ที่โอบอุ้มความสดชื่น พร้อมปล่อยออกซิเจนมาสู่ผู้คนเบื้องล่างทุกเวลา ไอระเหยบางๆ ของอากาศบริสุทธิ์ สะกิดปลายจมูกให้รับกลิ่นธรรมชาติอันชุ่มชื่นด้วยความสำราญ

"กระเพาะ หมู" เป็นคำนิยามของบางกระเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ด้วยลักษณะที่คดงอไปมาจนเหมือนรูปกระเพาะอาหารเป็นจุดสังเกตพิเศษที่ทำให้ ผู้คนสามารถจดจำบางกระเจ้าได้ดี ความพิเศษลำดับที่สองคือ นิตยสาร Time ฉบับ The Best of Asia 2006 ยกย่องให้พระประแดงเป็น The Best Urban Oasis หรือ โอเอซิสของอากาศบริสุทธิ์ที่ดีที่สุดติดอันดับในเอเชีย (อ้างอิง: samutprakan.mots.go.th)


ไม่ต้องพูดให้มากความคงพอจะเดาได้ว่าอากาศที่นี่ดีแค่ไหน เราออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่ ด้วยระยะทางเพียง 29 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ เราถึงที่ว่าการอำเภอพระประแดงเกือบเจ็ดโมงเช้า อากาศยังค่อนข้างเย็น แต่ยัง.. นี่ยังไม่ใช่จุดหมาย เรานั่งมอเตอร์ไซค์รับลมเย็นๆ ปะทะใบหน้าต่ออีกนิด เพื่อไปให้ถึงปลายทางที่ สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์มากอีกแห่งหนึ่ง สวนนี้อยู่ในโครงการสวนกลางมหานคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อสวนสาธารณะและสวนพฤกษชาตินี้ว่า "ศรีนครเขื่อนขันธ์"


เมื่อรวมตัวกันได้กลุ่มใหญ่พอสมควร การชมธรรมชาติวันนี้ก็เริ่มต้นขึ้นพร้อมจักรยานพาหนะคู่กาย ซึ่งไม่ว่าใครที่มาที่นี่ก็ต้องไม่พลาดการปั่นจักรยาน เพราะเป็นการท่องเที่ยวที่ได้สัมผัสธรรมชาติในสวนอย่างใกล้ชิดและยังเป็นการ ออกกำลังกายเผาผลาญพลังงานส่วนเกินไปในตัว ครั้งนี้หัวเรือใหญ่ของงานคือ โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ บรรณาธิการบริหาร National Geographic ฉบับภาษาไทย ซึ่งรับหน้าที่ทั้งผู้จัดกิจกรรม Rally และปั่นนำขบวน


เราจับแฮนด์แน่น ค่อยๆ ยันเท้าส่งให้รถเคลื่อนไปข้างหน้า แล้วจักรยานทั้งขบวนก็เคลื่อนที่ไปตามเส้นทางในสวนศรีฯ ขณะที่ปั่นเป็นเวลาช่วงเช้า หมอกจางๆ ยังกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณสวน อากาศที่นี่จึงดีเป็นพิเศษเพราะไม่มีไอแดดมาแผดเผาให้กังวลใจแต่เป็นแสงแดด อุ่นๆ ที่มากระตุ้นให้ร่างกายผลิตวิตามิน D ได้เป็นอย่างดี


ประธานสิทธิ์ กระมล หัวหน้าศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศน์นครเขื่อนขันธ์ให้ข้อมูลเบื้อง ต้นว่า พื้นที่แห่งนี้อยู่ในส่วนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ท่านได้เสด็จมาเมื่อปี 2549 และตรัสว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ต้องการให้มาปั่นจักรยานที่นี่ เนื่องจากมีเส้นทางจักรยานที่สวยงาม


ประธานสิทธิ์เล่าต่อว่า ศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศน์นครเขื่อนขันธ์เป็นชื่อของหน่วยงานที่ กรมป่าไม้ตั้งขึ้นมา มีเนื้อที่ 1,276 ไร่ แต่พื้นที่ที่สามารถปั่นไปศึกษาได้นั้น บางส่วนเป็นสวนของประชาชนและบางส่วนเป็นพื้นที่ที่ทางส่วนราชการจัดซื้อไว้ พื้นที่โดยทั่วไปเป็นสวนของชาวบ้าน สภาพป่าเป็นป่ากึ่งป่าเลนและป่าบก (บางแห่งเรียกป่าน้ำกร่อย) และชุมชนสวนป่าเกด

"หากใครได้มาปั่นจักรยานที่นี่ก็เสมือนได้มาตามรอยพระราชดำริของสมเด็จ พระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีโดยแท้จริง" หัวหน้าศูนย์ฯอธิบายอย่างภาคภูมิใจ


ปั่น ปั่น และปั่นไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน ยังไม่ทันเหนื่อยก็ได้ชมนกชมไม้ทั่วบริเวณสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ แต่ของดีไม่ได้มีเพียงเท่านี้ มาทั้งทีก็ต้องตระเวนชมสถานที่อื่นๆ ด้วย เริ่มจาก สวนป่าเกดน้อมเกล้า สวนป่าชุมชนตำบลทรงคนอง สวนป่าเกดเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวของ โครงการสวนกลางมหานคร ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงต้องการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวบริเวณคุ้งบางกะเจ้าไว้เพื่อให้เป็นปอดของคนกรุงเทพฯ เราจึงไม่รอช้าที่จะตามรอยพระราชดำริ


ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร ร่างกายเริ่มอาการปวดเมื่อยเล็กน้อยเพราะไม่ค่อยได้ออกกำลัง หากใครที่ฟิตอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหาปั่นต่อได้สบายมาก แต่พอปั่นเข้ามาชมป่าชุมชนทุกคนก็ต้องพักน่อง เพราะได้เวลาปฏิบัติตัวเป็นนักท่องเที่ยวหัวใจอนุรักษ์ทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกันด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน กิจกรรมนี้มีชาวบ้านในชุมชนเข้ามาร่วมแรงแข็งขันและยังบริหารจัดการกันเอง ด้วยการจัดเตรียมพันธุ์ไม้ต่างๆ พร้อมกับหลุมปลูกไว้ให้นักอนุรักษ์ได้นำไปปลูกตามท้องร่องในสวนป่า

งานนี้ เปรมปรีย์ ไตรรัตน์ ประธานป่าชุมชนเมืองสวนป่าเกดน้อมเกล้า สวมบทวิทยากรจำเป็น อธิบายที่มาของป่าชุมชนแห่งนี้ว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้วพื้นที่แห่งนี้ได้รับการอนุรักษ์โดยหน่วยงานราชการเพื่อเป็น พื้นที่สีเขียว ห้ามไม่ให้ชาวบ้านรุกล้ำเข้ามาเด็ดขาด ต่อมาปรากฏว่าพื้นที่แห่งนี้กลายเป็นสวนที่ถูกลืมรกร้าง ไม่ใช่ป่าที่ยั่งยืน จึงมีการฟื้นฟูป่าขึ้นมาใหม่โดยดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และยังเป็นพื้นที่ที่รวบรวมพืชสมุนไพรท้องถิ่นอีกด้วย


ประธานป่าชุมชนฯเล่าอีกว่า การฟื้นฟูป่าแห่งนี้เน้นปรับปรุงเรื่องน้ำเสียตามท้องร่อง เพราะเป็นแหล่งเพาะยุงลายตัวการไข้เลือดออก และรื้อป่าที่รกทึบให้โล่งโปร่งและมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยคงสภาพท้องร่องแบบเดิมไว้แต่ปลูกกล้าไม้แทรกเข้าไป ส่วนมากเป็นต้นไม้ใหญ่และมีพืชที่เป็นแหล่งอาหาร เช่น ต้นตีนเป็ด ตะเคียนทอง ยางนา ลูกหว้า มะหวด ชำมะเรียง สะเดา ขี้เหล็ก ยอ เป็นต้น

เดินชมสวนเพลินๆ ยิ่งเดินลึกเข้าไปยิ่งสัมผัสได้ว่าธรรมชาติที่นี่อุดมสมบูรณ์มาก แม้ล่วงเข้าช่วงสายของวัน แต่อากาศเย็นเหมือนติดแอร์ แถมเป็นแอร์ธรรมชาติที่ไม่ต้องเปลืองพลังงาน ไม่ใช่แค่ปลูกป่าแต่สวนป่าเกดยังเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติชั้นดีเนื่องจาก พื้นที่บริเวณนี้มีระบบนิเวศน์แบบสามน้ำคือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ทำให้พืชพรรณหลากหลายชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ดี กล่าวได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ ขณะนี้กรมป่าไม้ได้ส่งนักวิชาการลงพื้นที่เพื่อทำการสำรวจว่าในผืนป่าย่อมๆ นี้มีโอโซนปริมาณมากน้อยเพียงใด


ด้วยความสมบูรณ์ของป่า สิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างหนึ่งก็คือนกจำนวนมากมายหลายชนิดมาที่มาปักหลัก สร้างรังที่นี่ จากการสำรวจคร่าวๆ พบว่ามีนกอาศัยอยู่กว่า 30 ชนิดทีเดียว อนาคตสวนป่าเกดอาจกลายเป็นแหล่งดูนกได้อีกแห่งหนึ่ง


ตาดู หูฟัง มือก็พลางแกะถุงดำออกช้าๆ แล้วค่อยหย่อนกล้าไม้ลงไปในหลุมปลูก กลบดิน กดหลุมให้แน่นแล้วรดน้ำ เพียงเท่านี้ก็เสร็จพิธีการปลูกป่า คนหนึ่งคนสามารถเพิ่มต้นไม้ให้ป่าได้หนึ่งต้น คราวนี้มากันสามสิบกว่าคนคาดว่าอนาคตสวนป่าแห่งนี้คงมีต้นไม้หนาแน่นขึ้น แน่ๆ เมื่ออิ่มใจกับการได้ช่วยป่าให้ยั่งยืนแข็งแรงแล้ว ความปวดเมื่อยก็ค่อยคลายไปเช่นกัน ได้ฤกษ์ปั่นเจ้าสองล้ออีกครั้งเพื่อมุ่งสู่ วัดคันลัด ซึ่งเป็นเป้าหมายถัดไปของเรา

พื้นที่ราบเรียบกับพื้นที่สูงต่ำสลับกันไปช่วยเพิ่มรสชาติการปั่น จักรยานได้มากทีเดียว แม้ว่าจะเมื่อยน่องบ้างบางจังหวะแต่เมื่อมองธรรมชาติรอบตัวแล้วถือว่าคุ้ม ยิ่งกว่าถูกลอตเตอรี่ เพราะอากาศดีๆ ผู้คนมีน้ำใจแบบนี้ไม่มีให้เจอทุกวันในกรุงเทพฯ ไม่นานเราก็ถึงที่หมาย มองขึ้นไปบนศาลาเห็นสาวสวยสามนางนั่งเรียงราย อีกฝั่งเป็นหนุ่มหล่อนั่งอยู่สามนายเช่นกัน ตรงกลางระหว่างชาย-หญิงมีลูกไม้กลมๆ แป้นๆ วางอยู่ที่พื้นครบคน เห็นแล้วก็ห้ามความอยากรู้อยากเห็นไม่ไหว ต้องเดินตามคนอื่นๆ ขึ้นไปดูเสียหน่อยว่าเขาทำอะไรกันบนศาลา

"พี่มาพระประแดงหมายมาแหล่งมอญ เที่ยวเดินเลาะซอกซอนเสียจนอ่อนใจ .." เสียงเพลงรำวงแทรกเข้ามาท่ามกลางความสนใจใคร่รู้จากผู้ร่วมทริป ดึงดูดให้ทุกคนก้าวเข้ามาล้อมบ่อนสะบ้าในทันทีโดยไม่ต้องนัดหมาย


วัดคันลัด ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง เป็นสถานที่แสดงการละเล่นสะบ้ามอญที่ชาวบ้านในหมู่บ้านมอญจัดไว้ให้เราได้ ร่วมชมและร่วมโชว์ได้ด้วย เมื่อทุกคนพร้อมก็มีการส่งตัวแทนชาวทริปไปร่วมเล่นสะบ้าทอยและเริ่มสาธิตการ เล่น
น้องๆ ตัวแทนชุมชนสอนวิธีการเล่นให้กับแขกต่างถิ่น เริ่มจากกติกาในการเล่นที่ห้ามไม่ให้หญิง-ชายแตะเนื้อต้องตัวกันขณะเล่น การเอ่ยขออนุญาตฝ่ายตรงข้าม (ฝ่ายเริ่มจะเป็นฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายก่อนก็ได้) เพื่อขอทอยสะบ้า และท่าในการทอยสะบ้าซึ่งมีอยู่หลายท่าแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน (ที่ทรงคนองเล่น 9 ท่า บางหมู่บ้านมีถึง 17 ท่า) เมื่ออีกฝ่ายอนุญาตก็จะเป็นผู้ออกคำสั่งให้ผู้ขออนุญาตทอยสะบ้าในท่าที่ตน ต้องการ


จะว่าไปการละเล่นสะบ้าเราก็พอรู้จักมาบ้าง แต่ถ้าใกล้ชิดขนาดยืนอยู่ริมบ่อนนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้มา สัมผัสวัฒนธรรมชาวมอญแท้ๆ แรกเริ่มเดิมทีชาวมอญก่อตั้งชุมชนอยู่ 2 แห่งคือพระประแดงและบางพลี ถือเป็นชุมชนชาวมอญยุคแรกๆ ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในไทย ว่ากันว่ามอญพระประแดงเป็นมอญเชื้อเจ้ามีบรรดาศักดิ์ บ้างก็ยศทหาร มีหลักฐานปรากฏว่าชาวมอญเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสิน และเดินทางเข้ามามากในสมัยรัชกาลที่ 2


"หนุ่มสาวก็จะได้เจอกันเฉพาะช่วงวันสงกรานต์ แต่ละหมู่บ้านก็นานๆ จะเจอกันสักครั้ง เป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวต่างบ้านได้มาเจอกันแต่อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ ตลอดเพราะเวลาเล่นสะบ้าจะเล่นใต้ถุนบ้าน ผู้ใหญ่สามารถมองทะลุลงมาเห็นบ่อนสะบ้าข้างล่างได้ สะบ้าทอยนี้หนุ่มสาวหมู่บ้านเดียวกันจะไม่เล่นด้วยกัน พี่น้องจะไม่เล่นด้วยกัน ต้องเป็นหนุ่มต่างบ้าน เขาจะเอาสะบ้ามาวางที่บ่อน รู้กันว่าบ้านนี้มีคนจองเล่นสะบ้าแล้ว บ้านอื่นมาเห็นเขาก็จะไม่เล่น" บุษบา ไม้จีน ชาวไทยเชื้อสายมอญพระประแดงเล่า

ประเพณีวันสงกรานต์ถือเป็นเทศกาลประจำปีที่สำคัญของชุมชนมอญ แต่ละหมู่บ้านจะเตรียมเล่นสะบ้ากันอย่างคึกคัก เริ่มสองทุ่มเลิกเล่นประมาณเที่ยงคืน ทั้งยังมีฝ่ายเตรียมอาหารไว้ให้คนที่มาเล่นสะบ้าได้รับประทานกัน กิจกรรมในวันสงกรานต์มีหลายอย่าง เช่น การค้ำต้นโพธิ์ สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว ทำบุญสลากภัตร ไหว้บรรพบุรุษ การจัดขบวนแห่หงส์ เป็นต้น แต่ละกิจกรรมหลอมรวมให้คนในชุมชนทุกเพศทุกวัยได้มาปฏิสัมพันธ์กัน เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลโดยมีวัฒนธรรมประเพณีเป็นสื่อกลาง


กำลังเพลิดเพลินกับเพลงรำวงที่ทุกคนร่วมกันรำปิดท้ายการแสดง เวลาล่วงเข้าเที่ยงวันพอดี แสงแดดแผดกล้าเร่งให้เราหาที่หลบรังสียูวี พร้อมกันนั้นท้องก็ส่งเสียงเตือนว่าถึงเวลารับสารอาหารเข้าร่างกายอีกมื้อ ขบวน Rally จึงเคลื่อนตัวไปสู่ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งจุดหมายปลายทางแห่งสุดท้ายในกิจกรรม วันนี้


ถึงแม้ตลาดน้ำทุกวันนี้จะคึกคักตามกระแสนิยม แต่นักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาตลาดบางน้ำผึ้ง ไม่ได้มาเพราะกระแส แต่มาเพราะตลาดแห่งนี้มีของดีหลายอย่างที่ตลาดอื่นไม่มี อย่างเฉาก๊วยของที่นี่ไม่ใช่แค่ใส่น้ำแข็งแล้วโรยน้ำตาลอ้อยเท่านั้น แต่ยังมีเครื่องให้เติมได้หลายอย่าง เช่น ลูกจากเชื่อม พุทราเชื่อม ลูกเดือย ฟักทองเชื่อม สนนราคาเพียงถ้วยละ 20 บาท นอกจากนี้ยังมีของว่างอย่างขนมครกหอยทอด ข้าวหมาก ข้าวห่อใบบัว ถุงทอง และข้าวแต๋นอีกด้วย


ปั่นจนเสียพลังงานไปหลายแคลอรีบวกกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว เราจึงเลือกเฉาก๊วยหวานๆ เย็นๆ มาคลายร้อนเสียหน่อย จากนั้นจึงตรงดิ่งไปยังร้านบะหมี่หมูแดง ซึ่งร้านนี้มีทีเด็ดที่น้ำซุปสูตรเด็ดหวานหอมกลมกล่อมและเส้นบะหมี่ที่เส้น เล็กแต่เหนียวนุ่ม ด้วยความหิวเราเลยตั้งหน้าตั้งตากินจนลืมคุย กว่าจะรู้ตัวก็หมดชามแล้ว อิ่มท้องแล้วก็เดินชมตลาดเป็นอาหารตาด้วย บรรยากาศที่นี่ไม่เหมือนตลาดน้ำเสียทีเดียว เพราะไม่มีแม่น้ำแต่เป็นคลองชลประทาน แต่ริมคลองก็คึกคักไปด้วยแม่ค้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสและพร้อมบริการของกิน อร่อยๆ ตลอดเส้นทาง


บ่ายแก่ๆ ขบวนจักรยานRally ได้เวลาเดินทางกลับ แต่ละคนหอบหิ้วของฝากใส่ถุงคล้องไว้กับคันบังคับจักรยานคนละถุงสองถุง เป็นภาพที่น่ารักไม่น้อยที่เห็นคนไทยอุดหนุนจุนเจือพี่น้องไทยด้วยกัน ตลาดบางน้ำผึ้งวันนี้เม็ดเงินคงสะพัดมากทีเดียว นี่เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าไม่ต้องไปหางานทำให้ห่างไกลถิ่นฐานบ้าน เกิดก็สามารถมีอาชีพสร้างรายได้แก่ตัวเองได้ รวมถึงมีส่วนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มั่นคงแข็งแรงไปพร้อมๆ กันด้วย


การท่องเที่ยวที่ผสมผสานกับการออกกำลังกายให้ร่างกายได้ยืดเส้น สายบ้างก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยสำหรับคนเมือง เชื่อขนมกินได้เลยว่าบางคนชอบใช้ข้ออ้างว่าไม่มีเวลาออกกำลังกาย แต่ถ้ามีเวลามากพอที่จะมาปั่นจักรยานที่บางกระเจ้า นั่นแปลว่าคุณก็มีเวลามากพอสำหรับออกกำลังกายเช่นกัน

การเดินทาง
หากเดินทางโดยรถยนต์ ใช้เส้นทางถนนสุขสวัสดิ์ ถึงสามแยกพระประแดง เลี้ยวซ้ายสู่ถนนนครเขื่อนขันธ์ระยะทาง 1 กม. จะถึงบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง เลี้ยวซ้ายและใช้เส้นทางถนนเพชรหึงษ์ระยะทาง 5 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยวัดราษฎร์รังสรรค์ประมาณ 200 เมตร จะเข้าเขตตำบลบางกะเจ้า หรือใช้เส้นทางด่วนเฉลิมพระเกียรติ หรือถนนสุขสวัสดิ์ เลี้ยวซ้ายที่สามแยกพระประแดง ถึงถนนเพชรหึงษ์ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนบางกะเจ้า ส่วนการเดินทางทางน้ำนั้น สามารถเช่าเรือจากท่าช้าง หรือโดยสารเรือจากท่าเรือฝั่งกรุงเทพฯ ที่ท่าเรือคลองเตยนอก ข้ามมายังท่าเรือบางกะเจ้า

ที่พัก
เนื่องจากบางกระเจ้ายังไม่มีโฮมสเตย์ จึงต้องพักโฮมสเตย์ในบางน้ำผึ้งซึ่งไม่ไกลจากบางกระเจ้ามากนัก ที่บางน้ำผึ้งมีโฮมสเตย์หลายเจ้า แนะนำให้ติดต่อที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง (โฮมสเตย์บางน้ำผึ้ง)หมู่ที่ 10 ถนนบัวผึ้งพัฒนา ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการโทร. 0-2819-6762 ต่อ 110, 0-2461-0843, 08-9807-2501 หรือเช็คข้อมูลก่อนเดินทางที่ http://www.yourhealthyguide.com/travel/ ... g-homestay
นอก จากที่พักยังมีบริการอื่นๆ อาทิ ไกด์นำเที่ยวรับนักท่องเที่ยว 1 - 5 คน ราคาท่านละ 250 บาท , 5 คนขึ้นไป ท่านละ 200 บาท บริการอาหารสำหรับใส่บาตรพระสงฆ์ในตอนเช้า 1 ชุด บริการล่องเรือชมสะพานวงแหวนอุตสาหกรรม 300 บาท/คน/กรุ๊ปละ 20 คน บริการจักรยานคันละ 30 บาท ตลอดเส้นทางมีบริการนวดแผ่นโบราณ - นวดฝ่าเท้าครั้งละ 100 บาท นวดตัวครั้งละ 150 บาท บริการเช่าเรือชมตลาดน้ำ ชั่วโมงละ 20 บาท

http://www.bangkokbiznews.com/home/deta ... B8%B2.html
รูปประจำตัวสมาชิก
-TON-
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 989
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 ส.ค. 2008, 18:07
Tel: 094 094 2409
team: OSK 105
Bike: 2018 Trek Domane AL 3, 2017 Giant Escape 2, 2015 GT Sensor AL Expert, 2009 Gary Fisher Advance, 2008 Trek 1.9, 2006 Santacruz Superlight, Merida Dakar 750, Java FIT, 1991 GT Karakoram Elite
ตำแหน่ง: ซอย 30 ถนนพระราม 6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพ 10400

Re: เติมออกซิเจนที่ "บางกระเจ้า"

โพสต์ โดย -TON- »

ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ :D

อ่านแล้วอยากปั่นไปตลาดน้ำบางน้ำผึ้งจัง ดูๆแล้วไม่ไกลเท่าไหร่ :D
http://board.trekkingthai.com/board/sho ... c_id=90852

ระยะทางไป-กลับ ประมาณ 30 กม. ถ้าใช้เส้นทางตามกระทู้ที่เคยโพสต์ถามเส้นทางตั้งแต่ช่วงหลังปีใหม่ :D คือปั่นไปขึ้นเรือข้ามฟากที่คลองเตย ไปขึ้นแถวสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ปั่นต่ออีก 2-3 กม. ก็ถึงแล้ว :D
http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 5&t=138170
Amatuers train until they get it right. Professionals train until they get it wrong!

+ + + + + + + + + + + + + +
รูปประจำตัวสมาชิก
-TUM-
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 2643
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 ส.ค. 2008, 09:19
Tel: 089-1225598
team: N/A
Bike: Giant MCR-1, BMC Fourstroke FS01, Ibis Mojo SL, Cannondale SuperX HI-MOD, Van Nicholas Mamtor, Birdy Gen3, Humpert
ตำแหน่ง: พระราม 6 ซอย 30 สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ
ติดต่อ:

Re: เติมออกซิเจนที่ "บางกระเจ้า"

โพสต์ โดย -TUM- »

เอกมาโพสเหมือนจะชวนขี่ไปเลยยยยยยย เสาร์นี้เลยๆๆ

:mrgreen:
จักรยานคู่ชีพ

Giant MCR-1, BMC Fourstroke FS01, Ibis Mojo SL, Cannondale SuperX Hi-Mod, Van Nicholas Mamtor, Birdy Gen3, Humpert

ฝากด้วยคร้าบ ขายสนุกๆ : https://www.facebook.com/pages/TUM-ebay/403475586496297?ref=hl
รูปประจำตัวสมาชิก
eak@สะพานควาย
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 424
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 ส.ค. 2008, 10:59
Tel: 0898954944
team: รวมมิตร;localroad
Bike: GT Avalanche PRO, IF Reach

Re: เติมออกซิเจนที่ "บางกระเจ้า"

โพสต์ โดย eak@สะพานควาย »

เอามาให้อ่านนะ มันเป็นสถานที่หนึ่งที่น่าสนใจ
ตอบกลับ

กลับไปยัง “LocalRoad”