เรื่องเบาะๆ -- วิธีเลือก การวัด sitbone เบาะ fitting และ เบาะรีวิว Brooks, Specialized, Fizik, San Marco, Selle Royale ภาคแรก

ถ้าเป็นรถหรืออุปกรณ์ที่ออกแบบมาเป็นของ"รถพับ" โดยเฉพาะ เชิญเข้าห้องนี้ครับ
rain_mx2
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 456
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2012, 09:56

เรื่องเบาะๆ -- วิธีเลือก การวัด sitbone เบาะ fitting และ เบาะรีวิว Brooks, Specialized, Fizik, San Marco, Selle Royale ภาคแรก

โพสต์ โดย rain_mx2 »

เรื่องนี้ผมเขียนไว้นานแล้ว จริงๆมันมี 3 ตอนนะครับ แล้วมีแถมภาคพิเศษมาอีกตอน ลองมาดูๆกันครับ

เรื่องนี้เขียนๆหยุดๆตามเวลาว่างนะครับ ดังนั้นแต่ละตอนจะมีหลายหน้ามากถ้าจะอ่านให้ครบก็ต้องขยันกดเลื่อนหน้าหน่อยครับ เรื่องสำคัญๆอย่างความสูงเบาะมุมทำมือจะอยู่ช่วงหลังๆครับ เอาเป็นว่าถ้ายังไม่เจอ รีวิวเบาะก็ยังมีเนื้อหาอยู่ครับ

ตอนแรก คือ ภาคที่กำลังอ่านอยู่นะครับ พูดถึงวิธีเลือกเบาะ ตั้งเบาะ ตั้งความสูง การทำ fitting และ เบาะยี่ห้อดังต่างๆ
ภาคสอง เบาะรีวีว ภาคสอง Selle Italia, Selle SMP, Prologo http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 3&t=795490
ภาคสาม เบาะรีวิว ภาคสาม Selle Anatomica, Tune, Charge, WTB http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 3&t=798288
เรื่องเบาะๆ ภาคพิเศษ การตั้งมุมเบาะ (อีกที) -- http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 3&t=872869

เชิญตามอ่านกันตามอัธยาศัยนะครับ มีคำถามอะไรพิศดาร อ่านไม่รู้เรื่อง PM ผมได้ตามสบาย ใครอยากเอาไปพิมพ์ไปอ่านเอาไปเผยแพร่ก็ตามสบายครับ ขอ credit นิดหน่อยก็พอครับ 555 กลัวเจออีกทีเป็นหนังสือไปแล้ว
-----------------------------------------------------------------

วันนี้ฝนตกอีกแล้วครับ เลยออกไปซ่าไม่ใด้ ขอถือโอกาศ แปะกระทู้เรื่องเบาะที่เคยเขียนไว้ในกระทู้ Swift ย่อยนานมาแล้ว ซึ่งก็มีเพื่อนๆ พี่ๆ บอกให้เอามา Post แยกอีกทีดูครับ ใครที่เคยอ่านมาในกระทู้ Swift ผมมีตอนแถมด้วยนะครับ เรื่อง Fitting เบาะ ลองติดตามกันดูครับ

(เพิ่มเติมนะครับ ปรกติ ผมโพสต์วันต่อวันนะครับเพราะไม่มีเวลาโพสต์รวดเดียวหมด ถ้าอยากอ่านต่อเนื่อง อาจจะต้อง อ่านตามไปเรื่อยๆ หน่อยครับ ที่อยากให้อ่านแยะๆก็คงเป็นเรื่องเบาะ Fitting ช่วงกลางๆครับ เพราะดูเหมือนจะเป็นอะไรที่สำคัญพอสมควรครับ สำหรับพวกเราคนชอบขี่จักรยาน ถ้าทำให้อ่านลำบากต้องขออภัยด้วยครับ)

ตอนแรกผมเริ่มขี่จักรยานนี่ก็เริ่มง่ายๆครับ เดินไปซื้อมาคันหนึ่งขี่ออกมาแล้วก็จบ เบาะโรงงานส่วนใหญ่ก็ใส่มาให้พอรู้สีกว่ามีเบาะละครับ ขี่ไปไม่ถีงกิโลก็ปวดแล้ว เรียกว่าต้องซื้อเบาะมาเปลี่ยนกันทุกคัน
แต่เนื่องจากผมเป็นคนตัวใหญ่ระดับหนึ่งครับ นั่งเบาะตัวใหนๆ ก็ชอบนั่งไม่สบายเสียทุกที ก็เลยเปลี่ยนเบาะมาเรื่อยเลยครับ แต่จะเปลี่ยนยังไงก็นั่งไม่สบายเสียที จนกระทั่งความสงสัยถีงขีดสุด ก็เลยไปหาวิธีเลือกเบาะว่าต้องเลือกกันยังไง ปรากฎพบว่าเจ้าเบาะนี่เป็นส่วนสำคัญที่สุดอย่างหนี่งของการขี่จักรยานเลยนะครับ โดยการเลือกเบาะที่ดีเป็นส่วนสำคัญของการทำ Bike fitting ครับ ซี่งโดยปรกติ รูปร่างเบาะและตำแหน่งการติดตั้ง ก็เป็นปัจจัยหลักทีเดียวในเรื่องความสบายของการขับขี่จักรยานครับ

ในการเลือกเบาะนี่จริงๆ ความกว้างของเบาะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดปัจจัยหนี่งเลยครับ ทำไมหรือครับ สั้นๆคือเบาะต้องรับน้ำหนักคนขี่ได้พอดีครับ
แต่คำตอบถ้าจะลงละเอียดกันจริงๆแล้วมันก็ขี้นอยู่กับสรีระเราครับ คือคนเรามันจะมีกระดูกอยู่ที่ก้นทั้งสองข้างนะครับ เขาเรียกว่ากระดูก Sit Bone พูดง่ายๆก็คือกระดูกที่ทำหน้าที่นั่งนั่นเองดูตามรูปนะครับ เจ้ากระดูกนี้จะทำหน้าที่รับน้ำหนักทั้งหมดของเราเวลานั่ง สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ร่างกายคนเราจะมีเส้นเลือดวิ่งลงมาจากหลังและขนานอยู่กับ Sit Bone ด้วยครับ ถ้ามุมของเบาะกดเส้นเลือดนี้ก็อาจจะทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความชาขี้นมา ซี่งบางทีเหมือนอาการเลือดไม่เดินนั่นเองครับ
sitbones.jpg
sitbones.jpg (9.4 KiB) เข้าดูแล้ว 182271 ครั้ง
ดังนั้น กฎข้อแรกของการเลือกเบาะที่ดีสำหรับแต่ละคนก็คิือ เบาะที่ดีต้องกว้างพอที่จะทำให้ Sit Bone ทั้งสองข้างยังอยู่บนเบาะได้ครับ เพราะถ้า Sit Bone ข้างใดข้างหนี่งตกหรือเหลื่อมลงไปจากเบาะขณะกำลังปั่นแล้วละก็ เมื่อนั้นน้ำหนักของเราแทนที่จะลงไปที่ Sit Bone มันก็จะลงไปที่เนื้่อส่วนที่เหลือที่ยังสัมผัสกับเบาะแทนครับ ความเจ็บปวดก็จะตามมาอย่างแน่นอน

ถ้าดูตามรูปเปรียบเทียบรูปที่สอง เราจะเห็นว่า กระดูก Sit Bone ของผู้ชายนี่จะอยู่ใกล้กันมากกว่าของผุ้หญิงนะครับสาเหตุคือผู้หญิงจำเป็นจะต้องมี Sit Bone กว้างกว่าสำหรับช่องคลอดเวลาจะมีบุตรนั่นเองครับ นั่นก็หมายความว่าเบาะที่ผู้ชายนั่งสบาย ผู้หญิงอาจจะไม่สบายก็ได้นะครับอันนี้
Pelvic-anatomy-1.jpg
Pelvic-anatomy-1.jpg (32.06 KiB) เข้าดูแล้ว 182271 ครั้ง
อา สรุบว่าถ้าเรารู้ระยะ Sit Bone ของเรา เราก็ควรจะเลือกเบาะได้ง่ายขี้นมากครับ เรามาลองดูนะครับว่าจะวัดกันได้ยังไง มันมีวิธีหลายแบบนะครับ แต่วิธีที่ผมลองเองแล้วพอทำออกมาใด้ง่ายๆ นี่มีสองแบบนะครับ

แบบแรกหาเตียง หรือขั้นบั้นใดที่่มีพรมปูครับ แล้วไปซื้อกระดาษอลูมิเนียม Foil ห่ออาหารมา ตัดออกมาขนาดกว้างพอที่จะนั่งได้แล้วเหลือชายครับ วางบนเตียงหรือขั้นบันใด แล้วนั่งบนเตียงหรือขั้นบันใดนั้นๆ ตอนแรกนั่งราบๆก่อนนะครับ แล้วค่อยๆยกขาทั้งสองข้างขี้นพร้อมกัน ให้ก้นเรามันกดไปที่กระดาษครับ ตามตำราเขาบอกว่าให้ขาเราทำมุม ประมาณ 70 องศากับลำตัวจะดีที่สุด แต่ปรกติผมก็ลองแบบมั่วๆครับ หลังจากเสร็จแล้ววางขาลงแล้ว รีบหาคนอีกคนมาช่วงดีงขี้นครับโดยดีงสองมือพร้อมๆกัน แต่ถ้าจะพยายามลุกเองต้องเกร็งขาสองข้างขี้นมาพร้อมกันครับไม่งั้นรอยที่เราทำไว้มันจะเสียทรงได้ ถ้าเรานั่งและลุกได้โดยดีโดยกระดาษไม่ติดขี้นมาแล้ว เราจะได้รอยการนั่งของเราบนกระดาษฟอลย์ครับ จะเห็นเป็นวงกลมสองวงเห็นได้ชัดพอควร ให้วัดระยะจากจุดศูนย์กลางของวงกลมทั้งสองครับ อันนี้เราจะได้ระยะห่างของ Sit Bone มาแล้ว

ปรกติผมวัดขอบนอกถีงขอบนอก ด้วยครับจะได้รู้ว่า น้ำหนักเราลงกว้างแค่ใหน วิธีนี้วัดได้ง่ายพอสมควรนะครับ แต่บางทีรอยไม่ชัดก็ต้องลองทำใหม่โดยใช้กระดาษแผ่นใหม่ ผมวัดนี่ลองทำอยู่สามสี่ทีครับ หรือถ้าบ้านใครมีพวกเบาะ memory foam นี่ยิ่งดีครับ

อีกวิธีแบบลูกทุ่งๆ ที่ผมลองทำดูก็คือตอนก่อนอาบน้ำ เข้าห้องน้ำแบบมีโถครับแล้วปิดฝาโถ เอาครีมทาตัวปาดฝาโถนั่งให้เป็นชั้นครีมบางๆเสมอกันครับ แล้วนั่งดูทำท่าเดียวกันกับแบบแรก พอลุกขี้นมามันจะเป็นรอยเหมือนกันให้เราวัดได้เลยครับ ตอนแรกผมลองใช้แป้งฝุ่นแต่ตอนลุกบางทีขามันไปปัดรอยทำให้วัดลำบากครับ ระวังหน่อยนะครับวิธีนี้ ถ้าคนตัวหนักที่ปิดนั่งรองโถอาจจะเสียหายได้ครับ ทำเสร็จก็อาบน้ำต่อเลยครับ

สะดวกแบบใหนลองกันดูครับ เสร็จแล้วลองเทียบกับความกว้างของเบาะส่วนที่ตรงกับ Sit Bone เราดู ถ้า Sitbone ของเราออกมากว้างกว่า หรือขนาดพอๆกับความกว้างเบาะนี่ ก็เตรียมตัวเปลี่ยนเบาะกันเลย แต่ระวังนะครับ เบาะบางเบาะมีการออกแบบให้มันมีการเทลาดลงด้านข้าง แบบนั้นบางทีก็นั่งไม่สบายครับ เพราะฉนั้นก็ต้องวัดความกว้่างส่วนของเบาะที่เรียบที่มารอง Sit Bone เรา เป็นหลัก

เดี้่ยวมาต่อโพสต์ถัดไปนะครับ ว่าท่านั่ง แบบเสือหมอบ กับ แบบนั่งหลังตรง กับชนาดเบาะ และขนาด SitBone เกี่ยวข้องกันยังไงครับ
แก้ไขล่าสุดโดย rain_mx2 เมื่อ 18 เม.ย. 2014, 18:32, แก้ไขแล้ว 9 ครั้ง
เรื่องเบาะๆ http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 3&t=789947
วิธีอ่านค่ายางและวงล้อ + รายชื่อยาง 451 http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 9#p9528969
rain_mx2
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 456
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2012, 09:56

Re: เรื่องเบาะๆ -- วิธีเลือก การวัด sitbone และค่าที่จำเป็นต่อการเลือกเบาะ และ เบาะรีวิว

โพสต์ โดย rain_mx2 »

อย่างที่เล่าไปคราวที่แล้วครับ ว่ากฏข้อแรกของเราคือเบาะอย่างน้อยต้องกว้างกว่า Sit Bone คราวนี้เรามาดูกฎข้อสองของเราบ้างครับ กฎข้อสองของเราก็คืออย่างนี้ครับ เบาะที่นั่งสบาย จุดลงน้ำหนักของ Sit Bone มันต้องมีความสูงหรือความเรียบเท่ากันและอยู่บนระนาบเดียวกัน

โดยปรกติพวกเราจะนั่งสบายที่สุดถ้า Sit Bone ของเราอยู่ขนาน กับเบาะกดลงตรงๆนะครับ ในบางกรณีที่เบาะอาจจะกว้างกว่า Sit Bone แต่ทำรูปร่างโค้งมนไม่ขนาน หรือไม่เรียบ มันก็จะไม่ค่อยดีครับเพราะน้ำหนักแทนที่จะลงตรงๆมันจะลงเป็นแนวเฉียงแทน ก็จะทำให้เกิดแรงเฉีอนขี้นในเนื้่อเยื่อของก้นเราซี่งแรงนี้ก็จะไปดันหรือ กดการเดินของกระแสเลือดในบริเวณนั้น เราก็เจ็บได้อีกครับ ลองดูจากรูปนะครับ ทางซ้ายคือเบาะโค้งมนที่ไม่เหมาะสม ทางขวาคือเบาะที่เหมาะกับการนั่ง อาจจะมีคำถามว่าแล้วเบาะโค้งไม่ใด้หรือ ได้ครับ แต่ Sit Bone ของเราควรอยู่ในระนาบเดียวกัน
sit-fit-1-en.jpg
sit-fit-1-en.jpg (45.63 KiB) เข้าดูแล้ว 182264 ครั้ง

ก่อนจะไปต่อต้องคุยความเชื่อกันนิดหน่อยครับ ปรกติ Sit Bone แต่ละคนเราไม่เท่ากัน คนที่ตัวอ้วน (แบบผม) อาจจะมี Sit Bone แคบก็ได้ถ้ามาอ้วนในตอนหลัง คือถ้าไม่ใด้มีร่างกายตัวใหญ่ตั้งแต่เกิดมาเป็นกรรมพันธ์แล้วละก็ Sit Bone เราอาจจะแคบก็ได้ครับ ดังนั้นอย่าคิดว่า คนอ้วนจำเป็นต้องใช้เบาะใหญ่ๆ เสมอไปนะครับ ผู้หญิงตัวเล็กๆ อาจจะมี Sit Bone กว้างกว่าผู้ชายตัวใหญ่ๆได้ถีงสองเท่าเลยทีเดียว อีกอย่างครับถ้าจะวัด Sit Bone ให้วัดหลายๆที เพื่อความแม่นยำนะครับ วัดทีเดียวค่ามันอาจจะคลาดเคลื่อนได้

ในสมัยนี้จะเห็นว่าเบาะสมัยใหม่ มันจะมี ร่องกลางเบาะกันครับ (เขาเรียกกันว่า Cut Out นะครับ) เจ้าร่องนี้เขาทำขี้นมาสำหรับ หลบเส้นเลือดตรงกลางนั่นเองเพื่อให้กระแสเลือดยังใหลอยู่ได้ไม่ให้เราเกิดอาการชาในอวัยวะสุดถนอมของพวกเราครับ ซี่งอันนี้ไม่จำกัดเพศนะครับ มีโอกาศชาได้ด้วยกันทั้งคู่ เพราะพวกเราทุกคนต่างก็มีเส้นเลือดตรงนี้ครับ

cutout.JPG
cutout.JPG (24.16 KiB) เข้าดูแล้ว 182263 ครั้ง

บางคนก็จำเป็นจะต้องใช้เบาะแบบนี้นะครับ แต่บางคนก็ไม่จำเป็นขึ้นอยู่กับสรีระของแต่ละคนครับ วิธีการตรวจสอบง่ายๆว่าเราต้องการใช้เบาะที่มี Cut Out มั้ย ก็คือหาเก้าอี้พื้นเรียบๆแข็งๆนั่งครับโดยขาสองข้างหนีบเข้าหากันทำเหมือนเราอยู่บนจักรยานครับ แล้วลองก้มตัวมาข้างหน้า เอาเก้าอี้อีกสักตัววางอยู่ข้างหน้าเราให้เราจับพนักเก้าอี้สมมุติเป็นแฮนด์ได้ก็ดีครับ ถ้าเป็นคนขี่แบบเสือหมอบ มุมที่ลำตัวทำกับพื้นมันจะอยู่ระหว่าง 30-45 องศาครับ ถ้าคนขี่ mountain bike ก็จะอยู่ในระดับ 40-75 องศา ค้างไว้ในมุมที่ปรกติใช้ ท่านั้นสักแป้ปครับแล้วลองเปลี่ยนมุมไปมาดู จำลองสถานการณ์กำลังปั่น ถ้ารู้สีกเริ่มเจ็บหรือ รู้สีก ว่ามีพื้นแข็งๆมาโดน อวัยวะสุดสงวนของพวกเราแล้วละก็ ใช้เบาะมี cut out ก็น่าจะเหมาะสมนะครับ อันนี้อาจจะมียกเว้นในกรณีการใช้เบาะหนังเช่นเบาะ Brook ที่เบาะมีการให้ตัวตามน้ำหนักที่ลงตรงจุด Sit Bone เมื่อเทียบกับ เบาะแบบอื่น แต่ถ้าทดลองแบบที่ผมว่าแล้วเจ็บมากหรือแข็งมาก ก็อาจจะต้องลองพวก Brooks รุ่น imperial ที่มี cut out ครับ
brookimperial.jpg
brookimperial.jpg (4.19 KiB) เข้าดูแล้ว 182264 ครั้ง
คำถามที่น่าสงสัยอันถัดไปคือ แล้ว Cut Out นี่มันควรจะกว้างเท่าใหร่ มีหลายตำราครับ บางตำราบอกว่าอย่างน้อยควรกว้างไม่น้อยกว่า ความกว้างของ Sit Bone ลบไปสัก 20 mm บางตำราก็บอกว่า ครี่งหนี่งของความกว้าง Sit Bone ครับ ผมว่า ถ้าไม่มั่นใจกว้างไว้หน่อยก็ดีกว่านะครับ แต่ก็มีเรื่องควรต้องระวังนะครับ ถ้ากว้างมากแล้วไปกินที่ Sit Bone ของเรา หรือ ขอบ Cut Out มีมุมคมก็อาจจะบาดหรือกดเนื้อเยื่ออ่อนของเราได้เหมือนกันครับ

คราวนี้เรามาดูท่านั่งกันบ้าง อย่างที่เมื่อกี้บอกครับ ท่านั่งของเสือหมอบกับ ท่านั่งแบบตั้งตรงๆ มันจะมีมุมต่างกัน ท่านั่งของ รถ TT นี่ยิ่งมีมุมลาดต่างออกไปนะครับ เรามาดูท่านั่งมาตรฐานกันก่อนครับ พอจะเขียนเป็นตารางคร่าวๆได้ประมาณนี้นะครับ ช่องแรกคือ ความกว้าง Sit Bone ครับ ตารางนี้ผมได้มาจากเอกสารของทาง Specialized นะครับ ลองเอามาดูเป็นแนวกันดู

Sit Bone กว้างตั้งแต่ 70-100 mm ถ้าใช้ท่า Aero Posture (30-40 Degree) ขนาดความกว้างเบาะควรจะเริ่มจาก 130 mm ที่ท่านั่ง aero ไปจนถีง 143 mm ที่ท่านั่ง Upright (75 degree)
Sit Bone กว้างตั้งแต่ 100-130 mm ถ้าใช้ท่า Aero Posture (30-40 Degree) ขนาดความกว้างเบาะควรจะเริ่มจาก 143 mm ที่ท่านั่ง aero ไปจนถีง 155 mm ที่ท่านั่ง Upright (75 degree)
Sit Bone กว้างตั้งแต่ 139-160 mm ถ้าใช้ท่า Aero Posture (30-40 Degree) ขนาดความกว้างเบาะควรจะเริ่มจาก 143 mm ที่ท่านั่ง aero ไปจนถีง 155 mm ที่ีมุมปานกลาง (40-50) หรือมากกว่าตามความกว้่าง Sit Bone ที่ท่านั่ง Upright (75 degree)

ถ้าเอาตามตำรา ของ Specialized นี่เบาะเล็กสุดที่ซื้อกันได้คือ 130 mm เลยนะครับ แต่ถ้าตำราอีกเจ้าหนี่งเขาบอกว่าให้อย่างน้อยที่สุดบวกไปข้างละสองเซ็นจากความกว้าง Sit Bone เช่นถ้ามี Sit Bone กว้าง 110 mm เบาะอย่างน้อยก็ควรจะ 150 mm ครับ เอาเป็นว่าอันนี้เป็นค่าน้อยที่สุดแล้วกันครับ

สำหรับตัวผม ผมพบว่านอกจากการวัดค่า Sit Bone แล้วผมยังวัดขอบนอกของวง Sit Bone ด้วยครับจะได้รู้ว่าตอนนั่งก้นผมสัมผ้สพื้นอย่างไรบ้างแล้วเอามาเทียบกับเบาะต่างๆดูครับ Sit Bone ไม่ใช่เรื่องแค่เรื่องเดียวของเบาะนั่งนะครับ แต่เป็นค่าแรกที่เราควรวัดเพื่อจะทำ เบาะ fitting

ฝากอีกอย่าง สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการวัด Sit Bone ยังมีอีกวิธีการวัดที่แม่นยำใช้ได้ครับ ก็คือเอาเชือกหรือ สายวัดมาครับแล้วก็เอามือเราคลำหากระดูก Sit Bone เองตอนนั่ง โดยอาจจะเริ่มจากข้างซ้ายพอเจอแล้วก็เอามือข้างซ้ายจัับเชือกหรือสายวัดเอาไว้ เอามือขวาดีงเชือก แล้วเอามือขวาคลำหา Sit Bone ด้านขวาครับ พอได้ตำแหน่งก็ดีงเชือกหรือสายวัดให้ตรงจับสายวัดด้วยมือขวาให้แน่นๆ แล้วดีงเอาออกมาเทียบดูครับ


เดี๋ยวผมมาเขียนต่อ เรื่อง รูปแบบของเบาะและค่าอื่นที่จำเป็นในการตัดสินใจเลือกเบาะนะครับ
แก้ไขล่าสุดโดย rain_mx2 เมื่อ 11 ก.ย. 2013, 23:22, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
เรื่องเบาะๆ http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 3&t=789947
วิธีอ่านค่ายางและวงล้อ + รายชื่อยาง 451 http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 9#p9528969
รูปประจำตัวสมาชิก
Chiny
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 570
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 พ.ค. 2012, 12:48
ติดต่อ:

Re: เรื่องเบาะๆ -- วิธีเลือก การวัด sitbone และค่าที่จำเป็นต่อการเลือกเบาะ และ เบาะรีวิว

โพสต์ โดย Chiny »

:D
Don't Stop Believin' - "Steel still ROCK"
จานไข่ Dr.Egg viewtopic.php?f=60&t=515279
โครงการ มินิ กัดยางหมอบ เวอชั่นบ้านๆ viewtopic.php?f=63&t=488360
Dr.EGG Facebook Fan Page: http://www.facebook.com/pages/DrEGG/418740011510449
rain_mx2
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 456
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2012, 09:56

Re: เรื่องเบาะๆ -- วิธีเลือก การวัด sitbone และค่าที่จำเป็นต่อการเลือกเบาะ และ เบาะรีวิว

โพสต์ โดย rain_mx2 »

ก่อนจะเล่าเรื่องเบาะต่อกลับมาคุยเรื่องร่องกลางเบาะ หรือ Cut out กันนิดครับ โดยปรกติ คนทั่วๆไปนี่ เจ้าความกว้าง Cut Out นี่ยิ่งกว้างยิ่งดีนะครับเพื่อที่จะเปิดทางให้กระแสเลือดใหลได้สะดวก แต่บางคนอาจจะมีปัญหาครับ ถ้าขอบของ Cut Out ไปกดเนื้อเยื่อเข้า แล้วเกิดอาการเจ็บขี้นมาอาจถีงขั้นสาบส่งเบาะแบบมี Cut Out ไปเลยทีเดียว ซึ่งบางทีก็ขึ้นกับความอ้วนผอมและสรีระของแต่ละคนพอสมควรครับ

ถ้าลองใช้ Cut Out แล้วเจ็บก็แสดงว่าความกว้างของ Cut Out อาจจะไม่ถูกต้องครับ ก็มีวิธีที่ยังจะพอวัดประมาณความกว้าง Cut Out ได้ก็คือ ตอนที่เราวัด Sit Bone ให้เราวัดระยะจากขอบในของวงกลมสองวงที่แทน Sit Bone ของเรามาด้วยครับ ได้ระยะนี้มาแล้ว ลบออก 20 mm จะได้ระยะของ Cut Out ที่น่าจะเหมาะสม ที่ผมพูดว่าน่าจะเหมาะสม เพราะมันอาจจะมีปัจจัยอื่นอีกเช่น ส่วนเกินของเนื้อเยื่อเราเอง ความนิ่ม แข็ง ของโครงสร้างตัวเบาะ หรือ วัสดุบุุนุ่ม เช่น foam หรือ เจล บนตัวเบาะ ข้อควรระวังในการซื้อเบาะหนังที่มี Cut Out คือถ้า Cut Out ใหญ่ ใช้ๆงานไปโครงสร้างของตัวเบาะก็อาจจะเสื่อมได้เร็วกว่าครับ

ถ้าเราเป็นคนที่มีเนื้อเยื่อมากกว่าปรกติ หรือ แก้มก้นสมบูรณ์กว่าปรกติ เวลาเรานั่ง เนื้อเยื่อของเราจะถูกบีบลงไปในร่องของ Cut Out ครับ ถ้าขอบ Cut Out คมหรือเป็นสันก็อาจจะทำให้เกิดความเจ็บปวดขี้นมาได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นระยะ Cut Out ก็ควรจะเพิ่มให้กว้างมากขี้น ถ้าเป็นเบาะที่ไม่มี Cut Out นี่ ผลมันจะกลับกันครับคือตัวเนื้อเยื่อก็จะดันขี้นมาตามร่องของก้นเรา ทำให้เกิดความกดดันกับเส้นเลือดได้เหมือนกัน เบาะที่ไม่มี Cut Out บางตัวเช่นของ Fizik ก็จะใช้วัสดุทำเบาะหลายๆชั้นโดยให้ชั้นตรงแนวร่องกลางเบาะสามารถยุบตัวลงไปได้บ้างบนความกดดัน ซี่งก็คล้ายๆกับการมี Cut Out นั่นเองครับ เพียงแต่มี ไม่มีร่อง Cut Out จริงๆ

เราก็อาจจะสรุบกฎในการเลือกเบาะข้อที่สามได้ว่า เราควรจะทดสอบว่าเราต้องใช้ Cut Out ทุกครั้งที่เราจะเลือกเบาะใหม่ แล้วถ้าผลออกมาว่าเราควรต้องใช้ Cut Out ก็ควรจะเลือก Cut Out ที่มีขนาดที่เหมาะสมครับ

ในกรณีนี้ถ้าเราใช้เบาะที่มีโครงสร้างให้ตัวได้ เช่นเบาะแบบ Carbon หรือ เบาะหนังก็อาจช่วยได้ครับเพราะเบาะมีการให้ตัวและทำให้เนื้อเยื่อไม่ดันขี้นมาจนกดทับเส้นเลือดมากเกินไปโดยอาจไม่จำเป็นต้องมี Cut Out ก็ได้ เบาะที่มีโครงสร้างให้ตัวได้ยังสามารถช่วยรองรับและกระจายน้ำหนักจาก Sit Bone ได้ดี และถ้าเป็นเบาะแบบหนังก็จะเข้าตัวหรือเปลี่ยนรูปแบบให้รองรับกับสรีระของคนขี่ได้หลังจากผ่านระยะเวลาในการขับขี่ไปประมาณหนี่ง หรือที่เราเรียกว่าเบาะ ผ่านการเข้ารูปหรืออยู่ตัวแล้ว (Break in period) แปะรูปเบาะแบบ Carbon ครับ
sanmarco_carbon.jpg
sanmarco_carbon.jpg (26.83 KiB) เข้าดูแล้ว 182252 ครั้ง
วัสดุหุ้มเบาะ เช่นโฟม หรือ เจล ก็มีความสำคัญเช่นกันครับถ้าวัสดุบุมีมากเกินไป เวลานั่งน้ำหนักของเราก็จะไปกดวัสดุบุพวกนี้แล้วทำให้มันปลิ้นขี้นมากดดันเส้นเลือดหรือเนื้อเยื่ออ่อนของเราได้ ดังนั้นเบาะที่ไม่มีการบุเลย เช่นเบาะคาร์บอน อาจจะนั่งสบายกว่าเบาะที่มีเจลบุดูนุ่มสบายก็ได้ มุมในการขับขี่ หรือบางทีเขาก็วัดมุมของกระดูกเชิงกรานเทียบกับพื้นราบ (Pelvic tilt/rotation) ก็มีความสำคัญต่อการเลือกโครงสร้างและวัสดุหุ้มเบาะครับ ถ้ามุมนี้เกือบจะราบกับพื้นเช่นคนที่ขี่จักรยานแบบ TT โครงสร้างของเบาะก็ควรจะแข็งและมีวัสดุหุ้มน้อยหรือไม่มีเลย ในทางกลับกันถ้า เป็นแบบนั่งตัวตรงโครงสร้างเบาะก็ควรจะให้ตัวได้มากกว่าและมีวัสดุหุ้มได้แยะหรือนุ่มกว่า พวกเบาะที่นิ่มๆตรงขอบเบาะนี่ก็จะมีความเสียดทานสูงเป็นปรกติครับ ดังนั้นก็มักจะเกิิดเป็นแผลจากแรงเสียดทานได้ง่าย

น้ำหนักตัวของเรามีผลอย่างมากต่อความสบายของเบาะครับ สาเหตุคือน้ำหนักตัวที่มากจะสามารถกดเบาะให้เข้ารูปกับจุดลงน้ำหนัก Sit Bone ได้ดีทำให้ตอนนั่งเบาะยุบตัวลงรับกับรูปร่างได้มากกว่า โดยเฉพาะถ้าเบาะมีโครงสร้างให้ตัวได้เช่น คาร์บอน หรือ หนัง ก็จะนั่งสบายขี้นมากครับ ในเวลาเดียวกันถ้านั่งเบาะที่นิ่มๆมีวัสดุบุแยะ น้ำหนักที่แยะก็จะดันวัสดุบุปลิ้นขี้นมากดดันเนื้อเยื้อของตัวเองเป็นรอยเจ็บหรือไปกดเส้นเลือดทำให้เกิดอาการชาได้ ดังนั้นคนที่มีน้ำหนักมาก ควรจะใช้เบาะที่มีโครงสร้างที่ให้ตัวได้ เช่น คาร์บอนหรือ หนัง แต่ไม่ควรมีวัสดุบุแยะหรือนุ่มเกินไป

ในคนที่มีน้ำหนักน้อย แรงกดลงที่เบาะก็จะน้อยตาม โครงสร้างเบาะก็จะปรับตัวน้อยตามไปด้วยทำให้คนที่มีน้ำหนักน้อย นั่งเบาะหนังแล้วอาจจะบ่นว่าแข็งไม่สบาย (จนกว่าเบาะหนังจะ break in ถึงจะสบายขึ้น) ขณะที่คนน้ำหนักมากๆมานั่งปุ้ปอาจจะสบายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้เบาะอยู่ตัว หรือ break in ด้วยซ้ำ ดังนั้นคนที่มีน้ำหนักน้อยก็อาจจะควรเลือกเบาะที่มีนุ่มและมีวัสดุบุพอสมควร เพื่อจะได้มีชั้นรับการสะเทือนให้กับร่างกาย และน้ำหนักที่น้อยก็ไม่ทำให้วัสดุบุปลิ้นขี้นมากดทับแยะ ไม่ต้องกังวลกับอาการเจ็บปวดจากวัสดุกดดันครับ

น้ำหนักที่ถือว่ามากและทำให้เกิดผลต่อเบาะสำหรับผมนี่คือ เกิน 55-60 kg ขี้นไปครับ ส่วนตัวผมเองอยู่ในกลุ่มน้ำหนักมากนี้ด้วย ตอนนั่งเบาะหนังแบบ Brooks นี่สบายตั้งแต่วันแรกเลยครับไม่ต้องรอให้เบาะ break in เลย

จากที่คุยๆกันมา เราอาจะสรุบกฎข้อสี่ได้สั้นๆก็คือว่า ถ้าคนมีน้ำหนักตัวหนัก ควรเลือกเบาะที่โครงสร้างแข็ง แต่ให้ตัวได้ มากกว่าเบาะที่นุ่มและมีวัสดุนิ่มๆบุแยะครับ ถ้าคนตัวเบาก็ควรจะลองแบบตรงกันข้าม

แต่ยังไงๆ กฏข้อนี้ก็ไม่ตายตัวมากนะครับ คนน้ำหนักน้อยๆบางคนก็อาจจะชอบเบาะที่แข็งๆก็ได้ ถีงแม้ว่าจะนั่งไม่สบายเท่าเบาะนิ่มๆก็ตาม อันนั้นก็คงเป็นความชอบของแต่ละคนครับ แต่ถ้าคนมีน้ำหนักแยะ นี่พยายามหลีกเลี่ยงเบาะนิ่มๆดีที่สุดครับ

เบาะจริงๆมันมีหลายแบบนะครับ แต่รูปร่างหลักๆก็จะมีอยู่สองแบบ คือแบบที่จมูกผอมๆแล้วส่วนหลังอานแคบๆ หน้าตาผอมๆคล้ายๆตัว T เขาเลยเรียกกันว่าเบาะแบบตัวที ครับ อีกแบบที่เห็นกันได้ทั่วไปก็คือจะมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมมากกว่า ฝรั่งเขาเรียกว่า Pear shape ก็คือหน้าตาเหมือนลูกแพร์ นั่นเอง ทางซ้ายเป็นเบาะรูปตัวที นะครับ
tee_pear_saddle.jpg
tee_pear_saddle.jpg (4.79 KiB) เข้าดูแล้ว 182253 ครั้ง

เบาะแบบตัวที นี่เหมาะกับคนที่มีสะโพกและช่วงขาท่อนบนใหญ่ครับ เพราะว่าจะได้มีส่วนของเบาะที่จะมาเสียดสีกับขาด้านในน้อยลง (ลดการเสียดสี หรือ Chafing นั่นเอง) ถ้าคนที่นั่งก้มแบบเสือหมอบ เบาะแบบตัวทีจะยิ่งเหมาะมาก เพราะโดยปรกติมุมเบาะเทียบกับขาจะเหมาะสมกว่า ในทางกลับกันถ้าคนที่ไม่มีสะโพกและท่อนขาใหญ่มาก หรือเป็นคนนั่งขี่ตัวตรงแทบตลอดเวลา เบาะแบบลูกแพร์ก็ไม่เลวร้ายครับ เพราะจะช่วยกระจายแรงกดได้มากกว่า

คำถามคือจะรู้ได้ยังไงว่าท่อนขาใหญ่เกินไปหรือเปล่า มันก็มีวิธีวัดครับ วิธีวัดก็ไม่ยากอะไรครับ เอาสายวัดตัวหรือ เชือกมาวัดเส้นรอบวงต้นขาของเราตรงจุดที่ิติดกับขาอ่อนเลยครับ หามาได้เอามาหาร 6.28 ครับ (มาจากสูตรเส้นรอบวงนั่นละครับ) เราจะได้ค่ารัศมีต้นขามา ถ้า รัศมีต้นขา มากกว่า 60-65% ของ ความกว้างเบาะที่ได้มาจากการวัด Sit Bone และเป็นคนขี่แบบก้มเหมือนเสือหมอบ ก็น่าจะเลือกเบาะรูปตัวทีครับ

ความยาวเบาะก็มีความสำคัญครับ เพราะในการขับขี่ทางใกลๆพวกเราบางคนก็มักชอบจะขยับตัวขี้นๆลงๆในเบาะเพื่อเปลื่ยนท่าคลายความเมื่อยล้า ในกรณีนั้นเบาะที่มีความยาวมากกว่าก็จะทำให้สามารถขยับตัวขี้นลงได้ง่าย แต่ที่สำคัญคือในการขยับตัวนั้น ทุกมุม และตำแหน่งที่นั่งจะต้องมีจุดรองรับ Sit Bone เสมอครับ ดังนั้นในคนที่ชอบขี่จักรยานโดยขยับตัวขี้นลงในเบาะบ่อยๆ ก็ควรจะใช้เบาะขนาดยาวที่มีรูปร่างเป็นลูกแพร์มากกว่านะครับ เพราะมีพื้นที่เพียงพอนั่นเอง แต่ถ้าเบาะมีความยาวเกินไป และเราปรับมุมติิดตั้งเบาะให้หน้าเชิดแล้ว ตัวจมูกเบาะก็อาจจะมากดทับอวัยวะส่วนอ่อนนุ่มของเราได้ง่ายครับ ในทางกลับกันถ้าเราปรับเบาะให้เอียงไปข้างหน้า น้ำหนักก็จะลงที่ Sit Bone ของเราน้อยลง แต่ก็จะทำให้น้ำหนักส่วนนี้ไปลงที่มิือแทน ถ้ามุมมากเกินไปก็จะกลายเป็นปวดมือและใหล่ครับ

ตัวจมูกเบาะควรจะแข็งแรงและกว้างนิดหน่อย เพราะบางทีในจังหวะที่เราต้องยืนปั่นเพื่อขี้นทางชัน เราอาจจะยกตัวไปข้างหน้ากี่งๆยืน ในกรณีนั้นบางจังหวะขาของเราก็อาจจะต้องกดด้านข้างของเบาะไว้ครับ ถ้าจมูกเบาะมันแข็งแรงมันก็จะช่วยหนุนขาของเราในจังหวะออกแรงได้

เบาะที่มีรูปร่างเป็นลูกแพร์ที่ออกมาใหม่ๆบางเบาะก็จะมีการออกแบบชายเบาะให้มีแรงเสียดทานน้อย หรือให้ วัสดุขอบเบาะสามารถให้ตัวหรือ flex ได้ ทำให้ไม่เกิดการเสียดสีกับขาด้านในมากเกินไป ตัวอย่างเบาะที่น่าสนใจที่อยุ่ในกลุ่มนี้ก็เช่น Fizik Arione Kium หรือ พวก Brook Swift อย่างในรูปครับ
fizik_arione_kium.jpg
fizik_arione_kium.jpg (3.73 KiB) เข้าดูแล้ว 182252 ครั้ง
ของ Swift นี่ จะเห็นว่าแค่ทำให้โครงสร้างของขอบเบาะบางลงนะครับ ตัวเบาะก็จะให้ตัวได้มากขี้นในจุดนั้นๆ
swift_honey1_w375_h275_vamiddle_jc95.jpg
swift_honey1_w375_h275_vamiddle_jc95.jpg (17.79 KiB) เข้าดูแล้ว 182252 ครั้ง
ทั้งหมดที่เขียนมาเล่าให้ฟังได้มาจากตอนที่ผมอ่านๆ ค้นคว้าวิธีเลือกเบาะของตัวเอง รวมกับประสพการณ์การใช้เบาะมาหลายตัวพอสมควร ก็มีทั้งดี และแย่ ยังไงๆ มีข้อผิดพลาดอะไรช่วยบอกหน่อยนะครับ

เดี๋ยวตอนหน้ามาลองกันดูครับว่าจะจัด เบาะ Fitting กันยังไง โดยเฉพาะวิธีปรับความสูง มุมของเบาะ และก็ การเลื่อนเบาะหน้่าหลังครับ
แก้ไขล่าสุดโดย rain_mx2 เมื่อ 16 ก.ย. 2013, 09:06, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง
เรื่องเบาะๆ http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 3&t=789947
วิธีอ่านค่ายางและวงล้อ + รายชื่อยาง 451 http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 9#p9528969
รูปประจำตัวสมาชิก
MonsterJr
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 344
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.ย. 2012, 14:52
team: ADR
Bike: S-WORKS Roubaix SL3
ตำแหน่ง: มีนบุรี กรุงเทพ, โพธิ์ตาก หนองคาย

Re: เรื่องเบาะๆ -- วิธีเลือก การวัด sitbone และค่าที่จำเป็นต่อการเลือกเบาะ และ เบาะรีวิว

โพสต์ โดย MonsterJr »

ขอบคุณครับ :D
rain_mx2
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 456
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2012, 09:56

Re: เรื่องเบาะๆ -- วิธีเลือก การวัด sitbone และค่าที่จำเป็นต่อการเลือกเบาะ และ เบาะรีวิว

โพสต์ โดย rain_mx2 »

ตอนนี้เป็นตอนแถมนะครับ ไม่มีอยู่ในกระทู้เก่าใน Swift

จากการใช้เบาะ ทดสอบเบาะในช่วง ที่ผ่านมาของผม ค้นพบว่า การตั้งเบาะ มีความสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งครับ หลังจากเลือกเบาะที่เหมาะกับเราแล้ว

ผมพบว่าเบาะทั่วไป ออกแบบคล้่ายๆกัน ก็คือ จะมีจุดแนวกลางของเบาะอยู่ ซี่งก็จะลากยาวไปจนถีง จมูกเบาะด้านหน้า โดยด้านหลังเบาะมักจะทำมุมขี้นเล็กน้อย

แต่อันนี้ก็ไม่เสมอไปนะครับ แต่ 8 เบาะในสิบเบาะจะเป็นแบบนี้ส่วนใหญ่

วิธีที่ง่ายๆที่ผมทดสอบมาได้ผลกับตัวเองก็คือ เราควรจะดูก่อนครับว่าจุดใหนเป็นจุดหลักที่แนว Sit Bone ของเราจะอยู่บนเบาะ ซึ่งปรกติจะอยู่ค่อนไปทางด้านหลังของเบาะครับ แล้วลองกะดูประมาณนิ้วครี่งถีงสองนิ้วมาข้างหน้าจากแนวนั้น จุดนี้เราจะใช้เป็นจุดไว้วัดมุมเบาะครับ ผมขอเรียกว่าจุดหมุนของเบาะนะครับ ซึ่งโดยปรกติจะอยู่ประมาณกลางเบาะครับ แต่ถ้าเบาะที่มีความยาวมาก จุดนี้อาจจะไม่ใด้อยู่ตรงกลางเบาะจริงๆก็ได้ครับ หรือบางคนชอบนั่งเลื่อนไปทางข้างหลังมากจุดแนว Sit Bone ก็อาจจะเลื่อนตามออกไปครับ จุดที่ผมว่าจะประมาณตามรูปนะครับ เจ้าจุดแนว Sit Bone นี่คือจุดที่เราคิดว่าเราจะนั่งนะครับ มันจะมีความคลาดเคลื่อนบ้างครับ แต่ก็ยังพอใช้เป็นแนวกะได้
saddle_setup.jpg
saddle_setup.jpg (67.03 KiB) เข้าดูแล้ว 182208 ครั้ง
หลักการง่ายๆก็คือเราจะพยายามทำมุมเบาะไม่ให้ส่วนที่เป็นจมูกเบาะขี้นมาเสียดสีกับกล้ามเนื้ออ่อนและส่วนเส้นเลือดของเรานั่นเองครับ ซี่งสามารถทำได้ง่ายๆโดยพยายามให้จัดให้ เจ้าจุดหมุนของเบาะนี่ทำระนาบกับพื้นให้มากที่สุด หรือคือ 0 องศาครับ

ปรกติผมใช้แอพพลิเคชั่นระดับน้ำบน iphone วัดครับ แต่ต้องเลือกแบบนี่สามารถวัดระดับน้ำในแนวตั้งได้นะครับ บางแอพมีแต่แนวนอน สาเหตุที่ต้องการแนวตั้งเพราะเราต้องการให้จุดวัดนี้มันอยู่แคบที่สุด ถ้่าคนใหนเล่นกล้องแล้วมีตัววัดระดับน้ำระนาบกล้องตัวเล็กๆนี่ยิ่งดีกว่าครับ แต่บางทีอ่านค่าแอบยาก เวลา search ใน app store ก็ search แค่ level meter ครับ รับรองมาเต็มไปหมด

เนื่องจากแต่ละคนอาจจะมีความต่างกันในเรื่องสรีระนะครับ ดังนั้นถ้า คนที่เจ้าเนื้อหน่อย อาจจะเพิ่มระยะเป็นประมาณ 2 นิ้ว ในขณะที่คนที่ตัวเล็กหน่อยก็ลองที่ 1.5 นิ้วก็น่าจะกำลังดีครับ

ถ้ารีบและต้องการความเร็วละก็จะไม่มอง Sit Bone ก็ได้ครับ วัดมันตรงกลางเบาะเลยก็ได้ แต่อาจจะไม่ค่อยได้ผลกับเบาะยาวๆครับ

เพิ่มเติมนิดนะครับว่าในบางเบาะ อาจจะมีการออกแบบให้เบาะแอ่นตรงกลาง หรือมี จมูกเบาะเชิดกว่าปรกติ เราอาจจะจำเป็นต้องปรับมุมเบาะให้ไปด้านหน้าเล็กน้อยครับ ปรกติแค่ หนึ่งถีง สององศาเท่านั้น มากไปก็จะทำให้น้ำหนักมันไปลงที่ มือแทนทำให้เกิดอาการชาที่มือได้ง่ายขี้นครับ การวัดก็ยังวัดที่จุดหมุนของเบาะเหมือนเดิมครับ

นอกจากมุมเบาะแล้ว ความสูงของเบาะ และระยะ ระหว่างเบาะถีง ตัว Stem ก็มีความสำคัญครับ ซี่งอันนี้ก็น่าจะพอรู้กันอยู่แล้ว ซึ่งมันดูเหมือนไม่มีอะไรใช่่มั้ยครับ แต่จริงๆ มันก็พอมีอยู่บ้างครับ เดี๋ยวเราว่ากันต่อพรุ่งนี้นะครับวันนี้่ขอตัวไปทำงานต่อก่อนครับ
เรื่องเบาะๆ http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 3&t=789947
วิธีอ่านค่ายางและวงล้อ + รายชื่อยาง 451 http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 9#p9528969
รูปประจำตัวสมาชิก
toop
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 7434
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.ค. 2012, 22:34
team: คสลช. / ชมรมจักรยานพับได้
Bike: จักรยานพับ

Re: เรื่องเบาะๆ -- วิธีเลือก การวัด sitbone และค่าที่จำเป็นต่อการเลือกเบาะ และ เบาะรีวิว

โพสต์ โดย toop »

ขอบคุณครับ ความรู้นี้มีประโยชน์มากครับ
:D
MarioSeed
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 288
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ก.พ. 2013, 10:25
Tel: 0987467965
team: 605 Friend Cycling
Bike: LA.URBANO, Coyote Beyond , Trek1.1,Specialize E5 SW
ตำแหน่ง: Chiang Mai: Tapae Road,Chang Khlan,Hang Dong
ติดต่อ:

Re: เรื่องเบาะๆ -- วิธีเลือก การวัด sitbone และค่าที่จำเป็นต่อการเลือกเบาะ และ เบาะรีวิว

โพสต์ โดย MarioSeed »

แจ่มครับ เคยตามไปอ่านในกระทู้เดิมแต่ไม่ได้ปักไว้
ตามหาอีกทีก็ไม่รู้ไปไหนแล้ว อันนี้ขอปักไว้เลยครับ :mrgreen:
MarioSEED™`1step-[CloseR]-
รูปประจำตัวสมาชิก
pantoffski
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 142
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 ม.ค. 2013, 23:32
team: ทีมพี่ล้ง
Bike: LA Urbano TBT, Strida จีน

Re: เรื่องเบาะๆ -- วิธีเลือก การวัด sitbone และค่าที่จำเป็นต่อการเลือกเบาะ และ เบาะรีวิว

โพสต์ โดย pantoffski »

เยี่ยมเลยฮะ ขอบคุณมากครับ กำลังหาอยู่พอดีเพราะลืมปักเหมือนกัน :mrgreen:
รูปประจำตัวสมาชิก
pison
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 1893
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 พ.ย. 2008, 02:39
Tel: 089-8976969
Bike: รถพับ

Re: เรื่องเบาะๆ -- วิธีเลือก การวัด sitbone และค่าที่จำเป็นต่อการเลือกเบาะ และ เบาะรีวิว

โพสต์ โดย pison »

:D :D :D ขอบคุณครับ ยอดเยี่ยมมากครับ
รูปประจำตัวสมาชิก
shpiak
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 2191
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 ม.ค. 2013, 10:43
Bike: พับอย่างเดียว
ตำแหน่ง: วงเวียนใหญ่

Re: เรื่องเบาะๆ -- วิธีเลือก การวัด sitbone และค่าที่จำเป็นต่อการเลือกเบาะ และ เบาะรีวิว

โพสต์ โดย shpiak »

อย่างนี้นี่เอง ถึงว่าทำไมหลังๆกลายเป็นนั่งเบาะแมงมุมแล้วมันสบายกว่าเบาะอื่นที่มี อธิบายตัวเองได้แล้ว..
ขอบคุณคุณ rain มากๆครับ ความรู้ทั้งนั้น
ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว
สิ่งที่คนรวยกับจนมีโอกาสมีได้เท่าๆกันคือบุญ กับมารยาท
มีเงินก็หามารยาทมาประดับตัวเป็นศรีไม่ได้ ต้องทำเอาเอง
rain_mx2
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 456
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2012, 09:56

Re: เรื่องเบาะๆ -- วิธีเลือก การวัด sitbone และค่าที่จำเป็นต่อการเลือกเบาะ และ เบาะรีวิว

โพสต์ โดย rain_mx2 »

วันนี้มาต่อเรื่องความสูงเบาะกันครับ เจ้าความสูงเบาะ นี่มันสำคัญมากนะครับ เพราะเป็นตัวบอกเลยว่าเราจะขี่จักรยานมีความสุขได้แค่ใหนกันเลยทีเดียว ถ้าเบาะที่สูงไปก็จะทำให้เราต้องเหยียดขามากขี้นในจังหวะที่ปั่นเร็วๆ ในขณะที่เบาะที่เตี้ยเกินไป ก็จะทำให้หัวเข่าเรางอแยะเกินไปมีผลต่อ ตัวกระดูกอ่อน และเส้นเอ็นที่เข่า ซี่งอาจจะทำให้เจ็บปวดรุนแรงได้ทั้งสองกรณีครับ และควรหลีกเลี่ยงโดยการปรับเบาะให้สูงพอดีๆ สำหรับตัวเรา รถพับนี่ยิ่งเวียนหัวใหญ่ครับ เพราะส่วนใหญ่เราแทบจะต้องปรับกันใหม่ทุกครั้งเลยทีเดียว

ส่วนตัวผมเองนี่ความสูงเบาะมีผลมากครับ เพราะตอนเด็กๆ เคยไปฝีก รด แล้วระหว่างภาคสนามที่เขาชนไก่ประสพอุบัติเหตุ ล้มเอาเข่าชนกับหินแหลมๆ ทำให้เดินไม่ใด้ไปสองสามวัน ตอนนั้นก็นีกว่าสบายครับ นั่ง ฮ (รถปิ้กอัพ) ตามเพื่อนๆ ไม่ต้องฝีกแบบคนอื่นเขาเพื่อนๆก็แอบด่าหาว่าเราอู้ แต่ผมนี่ยิ้มๆเลย จากนั้นก็ไม่เคยมีอาการเจ็บหัวเข่าเลยจนกระทั่งมาเล่นกีฬาบางอย่างที่ใช้หัวเข่าแยะและพบว่าจะมีอาการเสียวทุกครั้งที่ใช้หัวเข่าข้างที่เคยล้ม ตอนมาหัดขี่จักรยานนี่ ก็เลยพบว่าถ้าผมตั้งความสูงไม่ดีไม่ถูกต้องนี่ เป็นได้รู้สีกทุกครั้งหลังการขี่ครับ

วิธีตั้งความสูงเบาะมีหลายวิธีนะครับ ซี่งผมพบว่าจากการชี้แนะ และทดลองกับเพื่อนๆ ที่ขี่จักรยานด้วยกัน แต่ละคนจะมีความสูงที่พอเหมาะเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน และบางทีกลายเป็นต้องใช้คนละวิธีในการวัด สรุบคือบางคนใช้บางวิธีดีกว่าบางวิธี วันนี้เลยขอเอามารวมๆไว้ครับ

วิธีแรกเป็นวิธีที่เพื่อนผมสอนตอนผมเริ่มขี่จักรยาน และน่าจะเป็นวิธีที่คนทั่วไปรู้จักกันดีก็คือ เอาส้นเท้าเหยียบบันไดไว้โดยให้ส้นเท้าอยู่ที่แนวขอบบันไดด้านหลังพอดี แล้วปรับความสูงเบาะให้ขาตีงพอดี โดยให้ขาเราอยู่ในแนวเส้นตรง กับแนวจุดเสาหลังอานครับ หรือคือจุดต่ำสุดที่เท้าเราจะสัมผัสได้ กับตัวบันไดนั่นเอง วิธีแบบนี้อย่างน้อยที่สุดก็จะไม่ทำให้เราปรับเบาะต่ำเกินไปแต่ก็จะไม่ใด้มองผลความต่างของแต่ละคนที่มีความยาวของช่วงขาจากต้นขาถีงหัวเข่า และจาก หัวเข่าถีงฝ่าเท้าที่ไม่เท่ากันครับ ดูจากรูปง่ายๆครับ แบบแรกนี่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า Heel Method นะครับ
heel_method.jpg
heel_method.jpg (65.8 KiB) เข้าดูแล้ว 182056 ครั้ง
วิธีถัดมาเป็นวิธีที่ถูกคิดค้นกันมานานแล้วครับ โดยเป็นวิธีที่เราจำเป็นต้องวัด inseams หรือความยาวของท่อนขาด้านในเราครับ วิธีการวัด inseams ก็ง่ายๆนะครับแต่น่าจะต้องมีเพื่อนช่วยวัดสักคนครับ โดยการยืนหันหลังเข้าผนังเรียบๆ แล้วหาหนังสือ หรือ ปก CD แข็งๆ ยืนในลักษณะหนีบมันเอาไว้ให้สันหนังสือแนบติดกับผนังครับ แล้ว กดสันหนังสือไว้ (อันนี้คงต้องให้เพื่อนช่วยกดครับ) แล้วก้าวหลบออกมา ดูตามรูปครับ
leg-length-inseam-small.gif
leg-length-inseam-small.gif (6.43 KiB) เข้าดูแล้ว 182056 ครั้ง
แล้ววัดความสูงของสันบนของหนังสือถีงพื้น บางทีเอาดินสอแต้มๆไว้ก็จะง่ายกว่าครับจะได้ไม่ต้องกดตลอดเวลา หรือจะไปตามร้านที่มีที่วัด inseams ก็ได้นะครับ ร้านชื่อดังหลังสวนลุมผมก็พอจำได้ว่ามีให้ลองวัดอยู่ พอเราได้ค่า inseams นี่ มันมีวิธีคำนวณหาค่าความสูงเบาะได้สองแบบอีกครับ


แบบแรกเขาเรียกว่าวิธี Lemond ครับ เพราะถูกคิดค้นโดย Greg Lemond ซี่งชนะ Tour De France ถีง สามครั้งครับ Lemond บอกว่า ระยะของความสูงของที่นั่งที่เหมาะสมควรจะเท่ากับ 88.3% ของระยะ inseams โดย ความสูงของ Lemond นี่เขาวัดจาก ความสูงของเบาะด้านบนจนถีงกี่งกลางกระโหลก หรือ Bottom bracket ครับ จุดอ่อนของวิธีนี้ก็คือว่าเราจะไม่ได้เอาระยะของ ขาจานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และเนื่องจากไม่รู้ว่า Lemond ได้ 88.3 มาจากขาจานสูงแค่ใหนครับ เพราะแต่ละคนอาจจะใช้ขาจานไม่เท่ากันเช่น 170, 172.5 หรือ 175 ได้ รถพับทั่วไปเป็น 170 นะครับ แต่ถ้าจะเอาให้แน่ลองตรวจสอบกันดูก่อน

วิธีวัดแบบที่สอง ที่ใช้ inseams เอาความยาวขาจานมาเกี่ยวพันด้วยครับ โดยเรียกกันว่าวิธี 109% หรือง่ายๆก็คือ เอาความยาว inseams คูณด้วย 1.09 จะได้ออกมาเป็นความสูงของหลังอานถีงจุดต่ำสุดของบันไดครับ ซึ่งก็หมายความว่าเอาความยาวของขาจานมาเกี่ยวข้องด้วย ตัวผมเองคิดว่าวิธีนี้น่าจะได้ผลดีกว่าวิธีแรก เพราะมีการคำนวณขาจานด้วย แต่ก็ไม่แน่เสมอไปครับ เพื่อนผมคนนึงใช้วิธี Lemond แล้วรู้สีกสบายกว่า

ลองดูจากรูปครับ A คือ วิธีแบบ Lemond B คือแบบ 109% สังเกตนิดนะครับว่าเขาไม่ใด้่เอาความยาวถีงบันไดที่ 6 นาฬิกาสำหรับวิธี 109% แต่ใช้ลากเส้นจากแนวเสาหลังอานลงมาชนกับบันได ณ จุดนั้นนะครับ ดังนั้นถ้าวัดกันที่ จุดต่ำสุดของบันไดที่ 6 นาฬิกานี่จะคลาดเคลื่อนเป็นหลักหลาย cm ได้เหมือนกันครับ ถ้าแนวหลังอานไม่ใด้ลงตรงๆ
seat-height-formulas-4.gif
seat-height-formulas-4.gif (17.97 KiB) เข้าดูแล้ว 182056 ครั้ง
เกร็ดนิดหน่อยนะครับ จริงๆไอ้วิธี 109% นี่จริงๆคิดก่อน Lemond นะครับ คิดมาตั้งแต่ยุคปี 1966 เลยทีเดียว แต่ได้รับความนิยมมากกว่าครับ

วิธีทั้งแบบ Lemond และแบบ 109% นี่เขาก็ว่ายังทำให้คนใช้ efficiency ในการปั่นไม่เต็มที่นะครับ ก็เลยมีคนทำวิจัยได้อีกวิธีมาก็คือวิธีของ Holmes ครับเป็นนักวิจัยด้านการกีฬา

วิธีของ Holmes มีที่มาจากการวิจัยที่ต้องการลดอาการบาดเจ็บจากการปั่นจักรยานครับ โดย Holmes จะวัดมุมของขาเป็นสำคัญ โดยวัดมุมตามรูปครับ โดยมุมของ Holmes จะอยู่ที่ประมาณ 25 ถีง 35 องศา โดยมุม 25 องศาจะเป็นมุมที่เหมาะที่สุดสำหรับทุกๆคน แต่ถ้าคนที่มีความยืดหยุ่นสูง ก็จะสามารถใช้มุมมากกว่า 25 ได้ครับ แต่ห้ามเกิน 35 ซี่งก็จะมีประสิทธิภาพของแรงสูงกว่า แต่ทำให้เสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บมากกว่าด้วย สังเกตนิดนะครับว่าวิธีแบบ Holmes นี่ วัดมุมกันตอน ขาจะเหยียบบันไดในส่วนที่กว้างที่สุดของฝ่าเท้านะครับ หรือเหมือนกับเราใส่ Cleat นั่นเองดูตามรูปครับ ซึ่งจะต่างกับการทำแบบ Heel method ที่เอาส้นเท้าเป็นหลัก
holmes_method.jpg
holmes_method.jpg (45.84 KiB) เข้าดูแล้ว 181325 ครั้ง
ปรกติการตั้งเบาะโดยใช้วิธีแบบ Holmes นี่เขาจะใช้เครื่องวัดมุม ชื่อ Goniometer กันครับ หน้าตาเป็นแบบนี้
goniometer.jpg
goniometer.jpg (6.69 KiB) เข้าดูแล้ว 182056 ครั้ง
ตัวผมเองใช้มุขไปจิ้กวงเวียนหลานมาใช้ครับ กางทำมุมวัด แล้วเอาไปวัดกับไม้โปรแทน ไม่ละเอียดมากแต่ใช้การได้ดีทีเดียว รู้หลักการกันแล้ว ก็คงมีคำถามว่าจะหาความสูงเบาะได้อย่างไรครับ ถ้าจะทำแบบ Holmes นี่ มีวิธีหาได้สามวิธีครับที่ผมเคยลองๆคิดมา

วิธีการแรกก็คงเป็นแบบกำปั้นทุบดินครับ ก็คือปรับความสูงตามวิธีอื่นๆที่กล่าวไปแล้วก่อนครับเป็นค่าตั้งต้น แล้วขี้นไปนั่งทำท่าเหมือนเตรียมปั่นโดยให้ส่วนที่กว้างที่สุดของฝ่าเท้าสัมผัสกับหน้าบันไดและยกส้นเท้าขี้นนิดหน่อย แล้ววัดมุมครับ ถ้ามุมมากกว่า 25 องศา ก็เพิ่มความสูงของเบาะ ถ้าน้อยกว่าก็ลดความสูงครับ

วิธีที่สองต้องวัดความยาว ของส่วนของเท้าเรานิดหน่อยครับ การวัดนี่อาจจะต้องวัดคนเดียวนะครับอันนี้ :-) โดยการวัดระยะช่วงแรกเราจะวัดจากช่วงขาหนีบตรงต้นขาลงไปหาจุดกึ่งกลางที่เป็นข้อต่อของหัวเข่าด้านข้างนะครับ อันนี้ผมเรียกว่าความยาวขาส่วนบนครับ ความยาวถัดไปที่ต้องใช้ คือจากจุดข้อต่อของอันแรกไปจนถีงฝ่าเท้าครับ ผมเรียกว่าความยาวขาส่วนล่าง ได้ความยาวสองอันมา ก็วาดเป็น scale เลยครับ ของผมใช้วิธี 1 mm เท่ากับ 1 cm โดยวาด สามเหลี่ยม ที่มีมุมตรงกลางเท่ากับ 180-25 หรือลบมุมใดๆที่จะหาครับ โดยมีความยาวของแขนด้านนึงเป็นความยาวขาส่วนบน อีกข้างเป็นความยาวขาส่วนล่าง แล้ววัดความยาวด้านที่เหลือที่เราไม่รู้ครับ ก็จะได้ออกมาเป็นความสูงของหลังอานเลย แต่ปรกติน่าจะวัดมุมอีกทีครับ

วิธีสุดท้ายใช้พลังคำนวณหน่อยครับ ใครมีเครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์กดได้ง่ายๆเลย เลขมัธยมธรรมดา กดๆเสร็จออกมาเป็นความสูงหลังอานเลยเหมือนกัน ความยาว ขาบน ขาล่างนี่วัดเหมือนวิธีที่บอกเมื่อกี้ครับ สูตรประมาณนี้ครับ เครื่องหมาย ^ คือยกกำลังนะครับ

ความสูงหลังอานจากบันได = sqrt( ขาบน^2 + ขาล่าง^2 - 2 x ขาบน x ขาล่าง x cos(180-25))

ขอเสริมว่าสองท่าท้ายนี่ มันจะไม่เป้ะๆนะครับ เพราะจริงๆ คำนวณหาด้านของสามเหลี่ยมจากจุดกลางสะโพกมาที่ส้นเท้า แต่น่าจะตรงพอที่จะใช้ได้ ถ้ายังไม่มั่นใจ วัดมุมกำกับอีกทีครับ

ถ้าเราวัดตามวิธีของ Holmes เขาบอกว่าความสูงหลังอานตอนแรกจะรู้สีกว่าสูงกว่าปรกตินิดหน่อยครับ แต่พอขี่ๆไปก็จะชินไปเอง โดยมีข้อดีคือถนอมหัวเข่ากว่าวิธีอื่นๆ และมีประสิทธิภาพสูงกว่าครับ ตัวผมเองผมลองมาทั้งสี่แบบแล้วครับ ของผมวิธี 109% สบายสุด ขณะที่ของ Holmes ให้ความรู้สีกแปลกๆเหมือนที่เขาว่าไว้เลยแต่ไม่ใด้ลองขี่จนถึงสองอาทิตย์ครับว่าจะปรับตัวได้ม้ัย วิธีแบบ Holmes ตอนนี้มาแรงพอควรในโลกของการทำ fitting ครับ

ยังมีวิธีแบบที่ห้าครับ ที่มีวิธีคิดที่ต่างออกไปโดยใช้การวัด efficiency ในสภาวะมีแรงต้านสูงๆตอนขี่ครับ แต่เดี๋ยวไว้ต่อ หน้าถัดไปนะครับ (อย่าลืมกดดูหน้าสองของ post นี้ครับ ผมเขียนคราวที่แล้วว่า post ถัดไป ปรากฏเพื่อนๆ พี่ๆ นีกว่่าจบแล้ว ไม่ใด้อ่านต่อ ต้องขออภัยด้วยครับ)
แก้ไขล่าสุดโดย rain_mx2 เมื่อ 29 มี.ค. 2014, 05:18, แก้ไขแล้ว 12 ครั้ง
เรื่องเบาะๆ http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 3&t=789947
วิธีอ่านค่ายางและวงล้อ + รายชื่อยาง 451 http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 9#p9528969
รูปประจำตัวสมาชิก
ข้าวหอม's Daddy
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 443
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 พ.ค. 2013, 02:35
Bike: Dr.Hon Jifo, Dahon 30th Anniversary, BMC SLR02

Re: เรื่องเบาะๆ -- วิธีเลือก การวัด sitbone เบาะ fitting และ เบาะรีวิว

โพสต์ โดย ข้าวหอม's Daddy »

เยี่ยมเลยครับ ขอบคุณมากครับ
The bicycle is the noblest invention of mankind. ~ William Saroyan Nobel prize winner
rain_mx2
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 456
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2012, 09:56

Re: เรื่องเบาะๆ -- วิธีเลือก การวัด sitbone และค่าที่จำเป็นต่อการเลือกเบาะ และ เบาะรีวิว

โพสต์ โดย rain_mx2 »

shpiak เขียน:อย่างนี้นี่เอง ถึงว่าทำไมหลังๆกลายเป็นนั่งเบาะแมงมุมแล้วมันสบายกว่าเบาะอื่นที่มี อธิบายตัวเองได้แล้ว..
ขอบคุณคุณ rain มากๆครับ ความรู้ทั้งนั้น
เบาะแมงมุมนี่จริงๆเป็นเบาะที่นั่งสบายมากตัวหนึ่งครับ น่าเสียดายที่ตาม spec เบาะ มันเฉียดฉิว sit bone ผมพอสมควรครับ เพราะเบาะแอบแคบ ก็เลยไม่ใด้เป็นเจ้าของ แต่ที่เคยลองของเพื่อนนี่นั่งสบายครับ
เรื่องเบาะๆ http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 3&t=789947
วิธีอ่านค่ายางและวงล้อ + รายชื่อยาง 451 http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 9#p9528969
tunpisit_tin
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 473
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 พ.ค. 2012, 13:04
Tel: 0972934193
team: BKBบ้านโคกไบค์ หนองกี่ กบินทร์บุรี
Bike: giant - trek

Re: เรื่องเบาะๆ -- วิธีเลือก การวัด sitbone เบาะ fitting และ เบาะรีวิว

โพสต์ โดย tunpisit_tin »

ความรู้ดีๆ ขอบคุณครับ :D
ชมรมจักรยาน บ้านโคกไบค์ BKB ต.หนองกี่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี่

http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... 7&t=705634
ตอบกลับ

กลับไปยัง “รถพับ”