เปรียบเทียบจาน DURA ACE กับ ROTER

ถ้าเป็นรถหรืออุปกรณ์ที่ออกแบบมาเป็นของเสือหมอบโดยเฉพาะ เชิญเข้าห้องนี้ครับ

ผู้ดูแล: Cycling B®y, spinbike, velocity

รูปประจำตัวสมาชิก
Tdf
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 1707
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ส.ค. 2012, 22:06

Re: เปรียบเทียบจาน DURA ACE กับ ROTER

โพสต์ โดย Tdf »

เมื่อก่อนตอนเริ่มใช้จานโรเตอร์ใหม่ๆรู้สึกว่ามันเพิ่มประสิทธิภาพการปั่นได้มากแทบไม่อยากกลับไปปั่นจานกลมเลยเพราะรู้สึกว่าตอนปั่นจานกลมจังหวะควงขามันขาดไปนิดๆ แต่พอขึ้นเทรนเนอร์มากๆปั่นต่อมาอีกนานๆ พอกลับมาใช้จานกลมรู้สึกว่ามันปั่นควงขาได้เนียนกว่าเดิมแทบหาความแตกต่างไม่เจอแล้วตอนนี้ พอไปปั่นจานโรเตอร์บนเทรนเนอร์กลับรู้สึกว่าจังหวะมันไม่ค่อยเนียนขึ้นมาอีก แต่พอปั่นบนถนนทั้งจานโรเตอร์และจานกลมแทบไม่รู้สึกว่าแตกต่างกัน ตอนนี้งงตัวเองจริงๆครับ :shock:
รูปประจำตัวสมาชิก
yellowjerseycycling
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 115
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 เม.ย. 2013, 16:28
Tel: 0818287330

Re: เปรียบเทียบจาน DURA ACE กับ ROTER

โพสต์ โดย yellowjerseycycling »

ที่บ้านมีรถใช้ทั้งสามแบบเลยครับ กลม rotor และ O-sym
- กลมกับRotor มีความแตกต่างน้อยมาก
- กลมกับO-Sym อันนี้จะเห็นชัดในเรื่องของจังหวะในการปั่น ดีกว่ากันไม๊... บอกไม่ได้ครับ
เคยพยายามเปียบเทียบด้วยความเร็ว รอบขา heart rate ไม่มีความชัดเจนมีแต่ความรู้สึกล้วนๆ ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่า

mini ที่บ้านอีกคันหนึ่งใส่จานเบี้ยว(58t)ของเกาหลี Doval คล้ายๆกับ O-symอันนี้รู้สึกว่าดีกว่าจานกลมที่ 58t เท่าๆกัน

ข้อสรุปสำหรับตัวผมเอง ผมคิดว่าปรกติรถล้อเล็กรอบจะหมดก่อนขาผมจานเบี้ยวทำให้มันไปต่อได้อีกหน่อย(ดูจากเปรียบเทียบ heart reateกับรอบขาและความเร็ว) แต่สำหรับรถล้อ 700 ผมยังไปไม่สุดของความสามารถของชุดเกียร์จนเห็นประโยชน์ของจานเบี้ยวเนื่องจากแรงหมดก่อน ไม่รู้ว่าจะถูกต้องรึเปล่าหรือคิดไปเอง คนที่ใช้ Power meter น่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ครับ

สำหรับคนที่เป็นตะคริว ผมมีเพื่อนเป็นบ่อยแล้วเปลี่ยนมาใช้ Rotor ก็ยังคงเป็นตะคริวเหมือนเดิมครับ

อย่างเดียวที่ตอบได้ชัดเจนคือสับจานขึ้นยากกว่าจานกลม และเวลาใช้เฟืองบน/ล่างสุดจะมีเสียงโซ่ค่อนข้างดัง เพราะมีจังหวะโซ่แกว่งสูงต่ำ
Yellow Jersey Cycling
08-1828-7330
http://www.thaimtb.com/forum/viewforum.php?f=653
รูปประจำตัวสมาชิก
Poravit
สมาชิก
สมาชิก
โพสต์: 65
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ม.ค. 2015, 20:53
ติดต่อ:

Re: เปรียบเทียบจาน DURA ACE กับ ROTER

โพสต์ โดย Poravit »

lucifer เขียน:การจูนสับจานใน Rotor มันเป็นเรื่องของศิลปะครับ :mrgreen: ต้องมาลองรถผมแล้วจะพบว่ามันsmooth แค่ไหน :mrgreen:

งัดเอาข้อความเก่าในกระทู้เก่ามาให้อ่านกันอีกทีก็แล้วกัน ประสพการณ์ของการใช้ Q-ring มาเกิน 1 ปี พอจะสรุปให้ฟังได้ดังนี้ครับ

ไม่จำเป็นต้องเช่ือในสิ่งที่ผมจะอธิบายดังต่อไปนี้ เพราะบางคนมีความสุขในการจะเลือกที่จะไม่เชื่อ :mrgreen:
ถ้าไม่เชื่อแล้วมีความสุข ผมก็พร้อมจะมุทิตาให้เสมอ เพราะยินดีในสุขของผู้อื่น ย่อมเป็นเรื่องที่ดี :mrgreen:

ต่อไปนี้เป็น ความคิดเห็นส่วนตัว อิงไสยเวทย์นิดๆ อิงวิทยาศาสตร์หน่อย อิงอัตตานิยมน้อยๆ อิงฮาเป็นหลัก

ใครจะได้ประโยชน์จาก Q-ring
ห้ามตอบว่าผู้ผลิต และผู้ขาย เด็ดขาด เพราะไม่เป็นคุณาประโยชน์ต่อสาระ

ก่อนที่จะอ่านต่อ โปรดพิจารณาตัวท่านดังต่อไปนี้
1. ถ้าท่านใส่รองเท้าผ้าใบ ใช้บันไดจักรยานแบบธรรมดา
* * * รสสัมผัสที่แตกต่างไปจากใบกลมธรรมดา ? --> ไม่แตกต่าง
* * * ประโยชน์ที่ได้เทียบเท่าใบจานกลมธรรมดา ? --> ไม่ควรลงทุน

2. ถ้าท่านเพิ่งใช้บันได clipless รู้จักประโยชน์ของclipless ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ทำได้แค่ถีบ คือ ดึงได้ด้วย
* * * รสสัมผัสที่แตกต่างไปจากใบกลมธรรมดา ? --> ไม่แตกต่าง
* * * ประโยชน์ที่ได้เทียบกับใบจานกลมธรรมดา ?--> ไม่ควรลงทุน

3. ถ้าท่านเริ่มเข้าใจเรื่องการควงบันได้ รู้ว่า Cycling แตกต่างจาก Hammering หรือ push and pull อย่างไร
* * * รสสัมผัสที่แตกต่างไปจากใบกลมธรรมดา ? --> อาจจะบอกได้ หรือ ไม่ได้ ขึ้นกับ ความบอบบางแห่งสัมผัสประสาท
* * * ประโยชน์ที่ได้เทียบกับใบจานกลมธรรมดา ? --> อาจจะไม่แตกต่างหรือดีกว่าเพียงเล็กน้อย ไม่ควรลงทุน แต่ฝึกฝนต่อไป

4. ถ้าท่านเข้าใจเรืองการควงบันไดดีพอ เริ่มเสือกไสไล่ป้ายดีขึ้น แต่ยังต้องเตือนสติตัวเองอยู่เป็นระยะๆ
* * * รสสัมผัสที่แตกต่างไปจากใบกลมธรรมดา ? --> บอกได้ถึงความแตกต่างได้ โดยเฉพาะในยามที่มีสติ ที่คอยรำลึกถึงท่่วงท่าในการปั่น
* * * ประโยชน์ที่ได้เทียบกับใบจานกลมธรรมดา ? -->ประโยชน์ที่ได้ดีกว่าใบจานกลมธรรมดาพอสมควร ส่วนจะลงทุนหรือไม่ แล้วแต่ท่าน ก้ำกึ่งก้ำกลาง แล้วแต่กระเป๋า และกิเลสตัณหา

5. แต่ถ้าท่านควงบันไดเป็นวงกลมได้อย่างเป็นธรรมชาติ จนไม่ต้องมาคอยพิจารณาว่าซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอแล้ว ควงจน 100 RPM เป็นเรื่องปกติสามัญ รับรู้ถึงจังหวะการออกแรงได้ในทุกๆองศาที่เท้ากระทำกับลูกบันได
* * * รสสัมผัสที่แตกต่างไปจากใบกลมธรรมดา ? --> บอกถึงความแตกต่างได้อย่างมีนัยสำคัญ
* * * ประโยชน์ที่ได้เทียบกับใบจานกลมธรรมดา ? --> ประโยชน์ที่ได้จะมากกว่าใบจานกลมอย่างมีนัยสำคัญทางไสยศาสตร์ ดังคุณไสยด้านล่างทั้ง 4บทดังต่อไปนี้


คุณไสย บทที่ 1
คิดว่าเราสามารถเทรนให้กล้ามเนื้อทุกๆมัดที่เกี่ยวข้องกับการปั่นจักรยานแข็งแรงได้เท่าๆกันไหม ? ;)
ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยหลักๆ ได้แก่ หน้าตัดขวางของกล้ามเนื้อ และจำนวนเส้นใยกล้ามเนื้อ
ถ้าเราถามอับดุลว่า
" อับดุล ……. เราสามารถเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ไหม ? "- -> แน่นอน อับดุลจะต้องตอบว่า
"ได้สินายจ๋า"

งั้นถามต่อ
"อับดุล ……. เราสามารถฝึกให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นไปอย่างไม่รู้จบได้หรือไม่ ? "--> ผมเชื่อว่าอับดุลจะตอบว่า
" โอวววว นายจ๋าาาาา นายคาดหวังมากเกินไปหรือเปล่า "

อับดุลตอบไม่ผิดหรอกครับ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ก็มีขีดจำกัดอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว เมื่อเราฝึกกล้ามเนื้อไปจนถึงจุดหนึ่ง จนถึงจุดที่มันไม่สามารถออกแรงได้มากกว่านี้อีกแล้ว นั่นก็แปลว่า มันไปถึงขีดจำกัดของมัน

คำถามง่ายๆที่ใครๆก็ตอบได้ว่า ถ้าเราฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กับ กล้ามเนื้อมัดเล็กไปพร้อมๆกัน เราคงจะไม่มีทางทำให้กล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรงเท่ากล้ามเนื้อมัดใหญ่ได้
บางคนก็อาจจะคิดแหวกแนวไปอีกว่า งั้นฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างเดียว แล้วไม่ต้องฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ไปด้วย

อืมมมม คิดได้ดี แต่คงจะไม่มีใครเขาทำกันอย่างแน่นอน เพราะกล่้ามเนื้อมัดใหญ่มีความแข็งแรงโดยชาติกำเนิดของมันอยู่แล้ว ฝีกกล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างไรก็คงจะยากที่จะทำให้มันแข็งแรงเทียบเท่ากับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ได้ แล้วการฝึกก็คงจะไม่มีใคร ที่จะงดการฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างแน่นอน เพราะมันเป็นกล้ามเนื้อมัดหลัก มัดสำคัญ และสามารถออกแรงและรับภาระได้มากที่สุด , เชื่อได้เลยว่า ไม่ควรจะมีใครคิดจะทำอย่างแน่นอน



เรามาดูกันถึงเรื่องการปั่นจักรยานกันหน่อยไหม กล้ามเนื้อมัดหลัก มัดใหญ่ที่ใช้งานหลักๆในการถีบลูกบันไดให้วิ่งลงไปด้านล่าง หรือ พูดง่ายๆก็คือ การย่ำ จะประกอบด้วยกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ ได้แก่
1. กลุ่ม Quadriceps ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อหลัก 4มัดใหญ่ทางด้านหน้าขาของเรา เมื่อมันหดตัวพร้อมๆกัน มันก็จะทำให้เกิดแรงเหยียดปลายขาในลักษณะถีบออกไป
2. กลุ่มกล้ามเนื้อบริเวณก้น เมื่อมันหดตัว จะทำให้เกิดแรงเหยียดต้นขาออกไป
เมื่อกล้ามเนื้อ 2 กลุ่มนี้ทำงานแบบสามัคคีกัน เราก็จะเกิดแรงถีบได้อย่างมากมาย เห็นไหม เวลาเรากำลังจะหมดแรง แล้วเราลุกยืนย่ำบันไดขึ้นเขา เรี่ยวแรงมันก็เพิ่มพูนขึ้นมาได้ ก็ด้วยพละกำลังอันมหาศาลของกล้ามเนื้อเหล่านี้แล

ส่วนกล้ามเนื้อมัดหลักๆที่ทำหน้าที่ในการดึงลูกบันไดขึ้น ( เมื่อเราใช้บันไดคลิปเลส( clipless pedals ) มัดหลักๆก็คือ กล้ามเนื้อในกลุ่มหลังขาด้านบน หรือ ที่เรียกกันว่า กลุ่ม Hamstrings ซึ่งก็เป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่เช่นกัน

ดังนั้นหากพิจารณาถึงเรื่ยวแรงหลักๆที่ได้ในการดึงและดันนั้น จะเป็นภาระหลักๆของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ทั้งสิ้น

แต่การปั่นจักรยานในลักษณะที่เรียกว่า Cycling นั้น จะเป็นการออกแรงกระทำกับลูกบันไดในลักษณะปั่นวนให้เป็นวงกลม ซึ่งนั่นก็คือจะต้องมีแรงกระทำต่อลูกบันไดในทุกๆองศาของรอบการหมุน
การป้าย หรือ การดึงเท้ากลับมาด้านหลัง ( คล้ายกับเหยียบขี้หมา แล้วเราพยายามลากรองเท้าป้ายไปกับพื้นเพื่อเอาขี้หมาออกจากพื้นรองเท้านั่นแหละ )
การไส หรือ การดันเท้าวิ่งไปด้านหน้า ( คล้ายกับเหยียบขี้หมาเหมือนกัน แต่แทนที่จะลากรองเท้ากลับเข้ามา ก็เสือกไสรองเท้าไปข้างหน้า เพื่อจะเช็ดขี้หมาออกไปจากพื้นรองเท้าอีกเช่นกัน )

ทั้งการป้าย และ การไส นั้น จะเป็นการออกแรงเสริมต่อจากการถีบ และการดึง พูดง่ายๆว่า เมื่อเราปั่นจักรยาน ลูกบันไดด้านหนึ่งจะรับแรงกระทำในลักษณะ ถีบ ป้าย ดึง ไส ถึบ ป้าย ดึง ไส ……… วนไล่กันเป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปเรื่อย

พอฝึกไปจนถึงขั้นแตกฉาน ถีบกับป้ายจะกลมเกลียวต่อเนื่อง ป้ายกับดึงก็จะกลมเกลียวต่อเนื่อง ดึงกับไสก็จะกลมเกลียวต่อเนื่อง ไสกับถีบก็จะกลมเกลียวกันต่อเนื่อง กลายเป็นการออกแรงที่ส่งต่อกันได้ทุกๆองศาของรอบการหมุนได้ในที่สุด


แต่!!! ทั้งการป้ายและการไสนั้น เป็นการออกแรงที่ได้มาจากกล้ามเนื้อขามัดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อส่วนบริเวณหน้าแข้ง กล้ามเนื้อน่อง รวมไปถึงกล้ามเนื้อบางส่วนของขาด้านบน แต่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก หรือ มีพละกำลังที่อ่อนด้อยกว่ากล้ามเนื้อหลักๆที่ใช้ในการถีบและดึง แถมกระบวนท่าในการเสือกไส ป้ายถูนั้น ก็ไม่ใช่กระบวนท่าที่จะสามารถทำให้กล้ามเนื้อมัดเล็กๆนั้นสามารถออกแรงได้อย่างสะใจ การหดตัวของมันก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ

ดังนั้น รอบในการปั่นลูกบันได จึงเป็นการไล่แรงจากกลุ่มกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก มัดใหญ่ มัดเล็ก วนเวียนกันจนครบวง


เยิ่นเย้อผ่านไป 1 บท



คุณไสย บทที่ 2
เมื่อการฝึกฝนผ่านไปจนถึงจุดที่ผู้ปั่นสามารถส่งแรงผ่านลูกบันไดเพื่อปั่นขาจานให้หมุนรอบแกนกระโหลกได้อย่างราบรื่น ราบเรียบ ไร้อาการสะดุดดั่งผ้าที่ทอไร้ตะเข็บ นั่นก็แปลว่า ณ เวลานั้น แรงที่กระทำต่อลูกบันไดในแต่ละองศาของรอบการหมุน ควรจะต้องเท่าๆกัน หรือ ใกล้เคียงกัน หรือ นวลเนียน ขา 2ข้างออกแรงเสริมกันได้อย่างลงตัว หมดจด

เป็นไปได้หรือ ที่แรงในแต่ละองศาของรอบการหมุน ที่เกิดจากกล้ามเนื้อมัดเล็กใหญ่ที่แตกต่างกัน มีพื้นฐานของความแข็งแรงที่แตกต่างกัน จะสามารถเกลี่ยแรงได้อย่างเท่าๆกันหรือใกล้เคียงกันได้
ก็ตอบได้ว่า "ทำได้ หรือ ทำได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ต้องการ" ภายใต้เงื่อนไขดังนี้
1. กล้ามเนื้อทั้งมัดใหญ่และมัดเล็ก ยังออกแรงในระดับเบาๆ หรือ กลางๆ หรือ พูดง่ายๆว่า ออกแรงในระดับที่กล้ามเนื้อมัดเล็กสามารถออกแรงได้ และยังมีแรงอยู่ ( ยังไม่ล้า )
2. ผู้ปั่นผ่านการฝึกซ้อมมาจนเกิดความชำนาญ (​ข้อนี้ไม่ต้องกล่าวถึงก็ได้ แต่เพราะมันมีข้อ 1 จึงต้องมีข้อ 2 ไง )

กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ออกแรงในระดับที่ทำให้เกิดแรงกระทำกับลูกบันไดได้เท่าๆกัน หรือ ใกล้เคียงกัน ----> วงรอบการปั่นก็จะราบรื่น ราบเรียบ ไร้อาการสะดุดดั่งผ้าที่ทอไร้ตะเข็บ จะทำได้ดีและต่อเนื่องนั้น ก็ต่อเมื่อเรายังไม่ได้สั่งให้กล้ามเนื้อทุกมัด รีดแรงทั้งหมดออกมา

เพราะมันก็เหมือนกับเราเอารถยนต์ กับ รถจักรยาน มาวิ่งหน้ากระดานเรียง 1 ด้วยความเร็ว 30 กม.ต่อชม. สั่งให้วิ่งไปเรื่อยๆ ห้ามเร่งไปกว่านี้ เราก็จะเห็นว่าจักรยานก็วิ่งทันรถยนต์
แต่เมื่อเราสั่งให้ทั้งคู่ รีดแรงทั้งหมดเพื่อให้รถกระโจนไปด้านหน้า เมื่อนั้น รถยนต์ก็จะพุ่งทะยานล้ำหน้าจักรยานไปในทันที ต่อให้ป๋าฟาเบียงเป็นคนปั่นจักรยานคันนั้นก็ไม่มีทางที่จะทะยานขึ้นหน้ารถยนต์ที่เหยียบคันเร่งลงไปจนจมมิดได้

นั่นก็คือ เรากำลังสั่งให้กล้ามเนื้อทุกมัด ทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่ รีดกำลังออกมาทั้งหมดเท่าที่มันจะมี ประเคนลงไปใส่ลูกบันไดในทุกรอบองศาของการหมุน โดยไม่ต้องกั๊กอีกต่อไป
ผ้านุ่มเนียนมือผืนนั้น ก็ชักจะเริ่มสัมผัสตะเข็บรอยต่อขึ้นมาได้ไม่ยาก


สงสัยไหมว่า เราควงบันไดด้วยรอบขา 100 รอบอยู่ดีๆ แล้วเกิดคึกสับเกียร์หนักขึ้นแล้วไล่รอบขา100รอบไปอีกทีละเกียร์ ทีละเกียร์ เราจะพบว่าจะถึงจุดหนึ่งที่เราไม่สามารถควงรอบขาขึ้นไปได้ถึง 100 รอบได้ แต่เราก็ยังสามารถถีบๆดึงๆรถไปได้อยู่อีก แถมความเร็วก็ไม่ได้ตกลงด้วยซ้ำไป ดูเหมือนจะเร็วขึ้นกว่าเกียร์ที่แล้วเสียอีก แต่ออกแรงหนักขึ้นกว่าเดิม แล้วก็ยังไม่สามารถควงรอบขาขึ้นไปได้อีกเท่าเดิม

เหตุผลหนึ่งก็คือ กล้ามเนื้อมัดเล็กที่เป็นตัวเสริมให้เกิดอาการไสและป้าย มันออกแรงตามกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ใช้ถีบใช้ดึงไม่ไหว ทำให้วงรอบการหมุนในช่วงการไสและป้ายสะดุดไป ความเร็วรอบจึงสะดุดตามไปด้วย การจะลากขึ้นไปถึง 100รอบ จึงเป็นไปได้ยากขึ้นนั่นเอง
และยิ่งเมื่อเรายังเข่นกระชากลากถูมันอยู่ กล้ามเนื้อแรงน้อย ก็ย่อมจะหมดแรงไปก่อนกล้ามเนื้อแรงมาก , ดูเวลาแข่งทัวร์ช่วงก่อนจะเข้าเส้นสิครับ นักปั่นบางคน ท่วงท่าในการปั่นจะไม่เท่เหมือนกับตอนออกสตาร์ทเลย เพราะการล้าของกล้ามเนื้อที่ไม่เท่ากันในแต่ละมัด และแรงที่เหลืออยู่ที่มีสำรองในกล้ามเนื้อแต่ละมัดที่แตกต่างกัน จึงทำให้ลักษณะการออกแรงของพวกเขาดูผิดไปจากเดิม ( ก็รู้ๆกันนะ กล้ามเนื้อมัดที่แข็งแรงกว่า มันก็คือ The last man standing นั่นเอง )

หากเราพิจารณาจานกลมที่เรารู้จักกันดี จานกลมก็เปรียบได้กับคานงัดอันดับที่ 2 มีจุดหมุนอยู่ที่กระโหลก , มีจุดรับแรงกระทำจากเราที่แกนบันได , จุดส่งต่อแรงออกไปจะอยู่ที่ใบจานตรงตำแหน่งยอดเฟืองแรกที่สัมผัสกับโซ่ด้านบน ( แนวเส้นตั้งฉากบริเวณที่โซ่แรกสัมผัสกับจาน ไปยัง แกนกระโหลก , หรือ จุดที่เป็นตำแหน่งในการลากโซ่ ) อัตราส่วนของการผ่อนแรงจะมีค่าคงที่ เท่ากับ ความยาวขาจาน หาร แนวเส้นตั้งฉากบริเวณที่โซ่แรกสัมผัสกับจาน ไปยัง แกนกระโหลก หรือ รัศมีของใบจานนั่นเอง

ดังนั้นไม่ว่าขาจานจะหมุนไปอยู่ที่องศาใดของรอบการหมุน อัตราส่วนของการผ่อนแรงก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง


คุณไสย บทที่ 3

Put the right man on the right job เลือกคนที่เหมาะสมกับงาน

"เมื่อใช้จานกลม เราจะพบว่ากล้ามเนื้อมัดใหญ่จะออกแรงนิดเดียว แต่กล้ามเนื้อมัดเล็กกลับต้องออกแรงมาก ( น้อย หรือ มาก เป็น การสัมพัทธ์ กับ ขีดความสามารถสูงสุดในการออกแรงของกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ) แล้วทำไมเราไม่ออกแบบใบจานที่เปลี่ยนแปลงรัศมีไปตามรอบองศาของการหมุน เพื่อเปลี่ยนอัตราผ่อนแรงให้เหมาะสมกับกล้ามเนื้อที่แข็งแรงแตกต่างกันหละ " <--------- ผมว่านี่คือ สิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวคิดของคนที่เริ่มพัฒนาใบจานเบี้ยว เพราะเท่าที่ผมจำได้ว่า ผู้ที่คิดพัฒนาใบเบี้ยวนี้ ตะแกต้องปั่นจักรยานขึ้นลงทางชันอยู่เป็นประจำ


เมื่อเราเอาจานเบี้ยวขนาด 50T มาวางเทียบกับจานกลม 50T ด้วยกัน จะพบว่า รัศมีที่มากที่สุดของจานเบี้ยวจะมีค่ามากกว่ารัศมีของจานกลม และรัศมีที่น้อยที่สุดของจานเบี้ยวก็ยังมีค่าน้อยกว่ารัศมีของจานกลมอีกเช่นกัน

ถ้าออกแบบการวางจานเบี้ยว ให้จานเบี้ยวมีรัศมีมากที่สุดในช่วงที่กำลังใช้กล้ามเนื้อมัดหลักในการถีบและดึง และให้จานเบี้ยวมีรัศมีน้อยที่สุดในช่วงที่กำลังใช้กล้ามเนื้อมัดเสริมในการไสและป้าย
ผลที่ได้ก็คือ กล้ามเนื้อมัดใหญ่สามารถออกแรงได้มากขึ้น และกล้ามเนื้อมัดเสริมออกแรงลดลง ซึ่งหากคิดสัมพัทธ์กับขีดความสามารถสูงสุดในการออกแรงของกล้ามเนื้อแต่ละมัดแล้ว --- > การออกแบบในลักษณะนี้ก็อาจจะทำให้กล้ามเนื้อทั้งหมด ออกแรงในเปอร์เซนต์ของความสัมพัทธ์ได้ใกล้เคียงกันมากขึ้นกว่าจานกลม


คุณไสย บทที่ 4
โอม มะลึกกึกกึ๋ย ข้าไม่สนใจหรอก เพราะข้าจะฝึกให้กล้ามเนื้อมัดเสริมของข้าแข็งแรงขึ้นมากกว่านี้อีกให้จนได้ เพราะขืนข้าฝึกด้วยจานเบี้ยวแล้ว กล้ามเนื้อมัดเสริมของข้าจะไม่พัฒนาขึ้นอีก

ด้วยภายใต้รูปลักษณ์แห่งนรชาติ ท่านไม่มีทางที่จะฝึกให้กล้ามเนื้อมัดเสริมของท่าน ให้มีความแข็งแกร่งขึ้นไปเทียบเท่ากับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ได้หรอก
ถึงแม้ว่าท่านจะสามารถฝึกใช้แขนให้เดินต่างขาได้ แต่ท่านจะไม่มีทางเลยที่จะกระโดดด้วยแขน ให้สูงได้ทัดเทียมกับการกระโดดด้วยขา
เฉกเช่นเดียวกัน ฉันใดฉันนั้น แต่มิใช่ฉันและเธอ

ในอีกมุมที่มองได้แตกต่างกันออกไปนั้น การฝึกด้วยจานเบี้ยว กลับทำให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และมัดเสริม พัฒนาความแข็งแรงขึ้นไปเทียบคู่เคียงกันในลักษณะของการออกแรงในลักษณะสัมพัทธ์กับขีดจำกัดสูงสุดของมันเอง และภายใต้สภาวะที่หนักหนาสาหัสขึ้นกว่าเดิม กล้ามเนื้อทั้งสองกลุ่มก็จะยังถูกรีดความสามารถออกมาได้อย่างกลมกลืน ไม่สะดุดให้เห็น และในมุมมองแบบจานเบี้ยวนั้น กล้ามเนื้อมัดหลักจะได้รับการพัฒนามากกว่าการใช้จานกลมเสียด้วยซ้ำไป
ดังconcept ของการเลือกคนที่เหมาะสมกับงาน

เมื่อมองอีกมุมหนี่ง หากต้องการจะเน้นพัฒนากล้ามเนื้อมัดเสริมขึ้นไปอีก แล้วถ่วงกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้พัฒนาช้าลง ด้วยการใส่ใบจานกลมกลับคืนไป ดังที่ซือเฮียแมวทองกล่าวไว้ในเบื้องต้นนั้น เมื่อฝึกไปสักพัก แล้วกลับมาใช้จานเบี้ยว ก็ย่อมจะทำให้สามารถสัมผัสความแตกต่างอันเกิดจากความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นของกล้ามเนื้อมัดเสริมที่เพิ่มขึ้นมาอีกได้อย่างแน่นอน

แต่ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้แห่งรูปลักษณ์นรชาติ มนุษย์จึงยังมีข้อจำกัดของความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อภายใต้เงื่อนไขของพื้นที่หน้าตัดและจำนวนเส้นใยกล้ามเนื้ออยู่ดังเดิม
จึงย่อมไม่สามารถทำให้กล้ามเนื้อมัดเสริมทั้งหลายที่มีเพียงไม่กี่มัด ให้มามีความแข็งแรงเทีียบเท่ากล้ามเนื้อมัดหลัก อันเป็นมัดใหญ่ๆหลายๆมัดได้อย่างแน่นอน
และย่อมไม่มีทางที่กล้ามเนื้อมัดหลักๆจะหมดแรงสิ้นสภาพไปก่อนกล้ามเนื้อเสริมเพียงไม่กี่มัดอย่างแน่นอน

ใบจานเบี้ยวจึงจะยังประโยชน์ให้แก่เฉพาะผู้ที่รู้จักการใช้กล้ามเนื้อมัดเสริมเท่านั้น หากรู้จักเฉพาะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ก็จงอย่าสุ่มเสี่ยงทดลองด้วยตนเองเลย เกรงว่าจักต้องขายมันเข้าสู่ตลาดมือสองอย่างแน่นอน

โดนคุณไสยไปแล้ว 4บท หากจะแก้คุณไสยนี้ ก็จงรีบนำเงินที่มีทั้งหมดไปส่งให้ภรรยาเก็บรักษาไว้โดยดี ส่วนผู้ที่ยังมิมีภรรยา หรือเป็นใหญ่เหนือภริยา(อันยากจะพึงพบในหมู่บุรุษที่มิอยากทะเลาะกับนารี) ให้พึงเอาเงินดังกล่าวไปซื้อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(RMF)เสียเถิด อย่างน้อยก็ผ่อนเบาภาระภาษีของท่าน แถมยังถอนออกมาไม่ได้จนกว่าจะอายุ 55ปี

อย่าลืม ถ้าท่านยังควงบันไดไม่เป็นที่แจ้งประจักษ์ ตราบนั้นจานเบี้ยวก็จะยังมิแจ้งประโยชน์อันใดให้แก่ท่านเลย

...........................................
อธิบายเรื่องยากๆให้เข้าใจได้ และเข้าใจได้ง่ายด้วย เนื้อหามีการปูเรื่องกล่าวที่มาที่ไปลำดับความเข้าใจได้ยอดเยี่ยมมากๆ เลยครับ ขอชื่นชมจากใจครับ
ในห้วข้อที่ผมสนใจ ถ้าเห็นไอดี นี้มาคอมเม้น (lucifer) ผมไม่เคยละเลยที่จะอ่านเลยสักครั้ง
ตอบกลับ

กลับไปยัง “เสือหมอบ (roadbike)”