ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์กัน

รายงาน/รูป "สรุปทริป" จากที่ได้ปั่นมา
ตอบกลับ
รูปประจำตัวสมาชิก
jackal2008
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 1388
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 ก.พ. 2009, 14:23
Tel: 087.198.0944
team: none
Bike: Fuji Touring 2016

ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์กัน

โพสต์ โดย jackal2008 »

คุยกันก่อนครับ

กระทู้นี้จะเป็นกระทู้ที่จะแนะนำการปั่นจักรยานท่องเที่ยวจากประเทศไทยไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยจะแนะนำรายละเอียดต่างๆ ให้ทราบเพื่อที่ว่าจะได้วางแผนการเดินทางได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากผมจะเขียนได้วันละตอน จึงจะค่อยๆ ทยอยลงให้อ่านกันนะครับ โดยเนื้อหาต่อเนื่องจะมาลงอยู่ในหัวข้อกระทู้ต่อเลย จะได้มีความต่อเนื่องกัน

รูปภาพ

ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียกันเถอะ ตอนที่ 1 จากเมืองไทยจะออกทางด่านฯ ไหนดีและต้องเตรียมตัวอย่างไร?

มาเลเซีย เป็นประเทศที่อยู่ติดต่อกับทางใต้ของประเทศไทยเรานะครับ นั่นก็คือเมื่อเราปั่นจักรยานล่องใต้ หากสนใจจะมาผจญภัยต่อที่มาเลเซียนี่ย่อมได้เลย แต่คราวนี้เราจะออกทางด่านฯ ไหนดีละ เพราะถ้าจะว่าไปมีประตูเข้าและออกระหว่างไทย มาเลย์ อยู่ 5 ด่านใหญ่
1) ด่านพรมแดนสะเดา จังหวัดสงขลา
2) ด่านปาดังเบเซาร์
3) ด่านวังประจัน จังหวัดสตูล (ด่านนี้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ)
4) ด่านเบตง
5) ด่านสุไหงโก-ลก
การจะเลือกออกด่านไหน เราต้องมาพิจารณาก่อนครับ ว่าจะเลือกเดินทางกันในฝั่งตะวันออกหรือตะวันตกของมาเลเซีย เพราะบรรยากาศของฝั่งตะวันออกและตะวันตกนั้น เป็นคนละเรื่องละราวกันเลย แต่เส้นทางที่นิยมสำหรับนักจักรยานท่องเที่ยวจะอยู่ที่เส้นฝั่งตะวันตกครับ เพราะจะเลียบชายทะเลและมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้แวะอย่างมากทีเดียว โดยเฉพาะปีนัง
ถ้าคุณเลือกจะเดินทางเส้นทางในฝังตะวันตก มีด่าน 3 ด่านที่ควรพิจารณาครับ คือ ด่านพรมแดนสะเดา ด่านเบตง และ ด่านวังประจัน จังหวัดสตูล
หรือถ้าหากต้องการจะเริ่มปั่นจักรยานที่เกาะปีนัง โดยจะแวะไปเที่ยวชมเกาะลังกาวี จากนั้นก็นั่งเรือจากลังกาวีมาปีนัง แล้วค่อยเริ่มปั่นจักรยานก็สามารถทำได้ครับ โดยเข้ามาเลเซียทางด่านตำมะลัง จังหวัดสตูล
สำหรับผมแล้ว เคยออกแต่ทางด้านวังประจัน จังหวัดสตูล ในตอนนี้จึงสามารถเล่าได้แต่ทางด่านนี้นะครับ แต่คิดว่าทางด่านอื่นที่ออกมาก็จะไม่น่าต่างกันมากนัก เพราะหากเดินทางฝั่งตะวันตก ถนนทั้งหมดก็จะมาบรรจบกันที่เมือง Kangar
แต่ก่อนที่จะเข้ามาเลเซียเราต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
1) แลกเงินครับ จากเงินบาท เราต้องแลกเป็นริงกิตของมาเลเซีย อัตราแลกเปลียนจะอยู่ราวๆ 10 บาทต่อ 1 ริงกิต สามารถไปแลกที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยได้เลยครับ แต่ถ้าไปแลกที่ตลาดซื้อขายตรงด่าน เงินบาทจะเจอกดราคาหัวแทบทิ่ม
2) หัวแปลงปลั๊กไฟ (Travel Universal Adapter) เพราะปลั๊กตัวเมียของทางมาเลเซียจะต่างจากบ้านเราครับ เป็น 3 รู แต่ถ้ามีเจ้าหัวแปลงไฟแบบนี้ติดตัวไปหายห่วง (ซื้อที่เมืองไทยถูกว่า ตอนผมไปไม่ทราบเรื่องนี้ต้องไปซื้อที่มาเลย์ฯ เจอไปซะตัวละ 40 ริงกิต)
3) เวลาของมาเลเซียจะเร็วกว่าเรา 60 นาที (1 ชม.)
4) เบอร์โทรสถานฑูตไทยในมาเลเซีย +60 3 214 8822, 214 8350
5) เบอร์ตำรวจ (112 ถ้าโทรจากมือถือ) 999
6) ศัพท์ที่ควรทราบ มีดังนี้
Bukit หมายถึง ภูเขาแบบไม่สูงมากนัก (Hill)
Gunung หมายถึง ภูเขา (Mountain)
Jalan หมายถึง ถนน (อันนี้เจอบ่อย)
Kampung หมายถึง หมู่บ้าน (เจอบ่อย)
Kuala หมายถึง ปากแม่น้ำ (river mouth)
Lebuhraya หมายถึง ทางด่วน (จักรยานห้ามขึ้นเด็ดขาด)
Pulau หมายถึง เกาะ
Sungai (S) หมายถึง แม่น้ำ
Tanjoug (Tg) หมายถึง แหลม (Cape)
Teluk (Tk) หมายถึง อ่าว (Bay)
7) ซื้อซิมโทรศัพท์มือถือที่สามารถใช้ในมาเลเซียครับ หากต้องการใช้อินเตอร์เน็ตด้วย ก็บอกร้านเขาไปเลย จะมีโปรโมชั่นแตกต่างกันออกไป อันนี้ค่อนข้างจำเป็นครับ เพราะที่พักแบบโฮมเสตย์ระหว่างทาง เขาจะมีเบอร์โทรแปะเอาไว้ หากต้องการจะพักต้องโทรไปบอกเขาครับ ถ้าไม่มีโทรศัพท์ จะยุ่งเอาเรื่องพอสมควร
เอาละครับ ตอนนี้เราพร้อมจะปั่นจักรยานไปเที่ยวในมาเลเซียกันแล้ว พรุ่งนี้จะมาเล่าให้ฟังกันต่อว่าจะข้ามแดนแล้วไปไหนอย่างไร จนถึงโน่น ยะโฮบารูห์

รูปภาพ

ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียกันเถอะ ตอนที่ 2 ออกเดินทางจากเมืองไทยไปอลัง เซตาร์

หลังจากที่ได้เตรียมตัวสำหรับข้ามด่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เราก็พร้อมที่จะไปตลุยมาเลเซียกันแล้วครับ โดยแผนการเดินทางของเรามีดังนี้ครับ

วันที่ 1 เมือง Alor Setar
วันที่ 2 เมือง Sugai Petani
วันที่ 3 เมือง ปีนัง (ข้ามฟากจากเมืองบัตเตอร์เวิดด้วยเรือ)
วันที่ 4 และ 5 อยู่ในเมืองมรดกโลก ปีนัง
วันที่ 6 เมือง Taiping
วันที่ 7 เมือง Ipoh

อาทิตย์แรกตามนี้ก่อนครับ

ด่านวังประจัน จ.สตูลไปเมืองอลอร์ เซตาร์

ด่านวังประจัน เป็นด่านที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติทะเลบัน ดังนั้นเราสามารถกางเต็นท์พักแรมในที่ทำการอุทยานฯ ได้ครับแล้วตอนเข้าค่อยข้ามแดนไปมาเลย์ ถ้าคุณเดินทางในช่วงนี้และไปพักที่อุทยานฯ จะได้ยินเสียงกบภูเขาส่งเสียงร้องได้บรรยากาศมาก

การข้ามแดนออกจากไทยและมาเลเซีย ไม่มีเรื่องยุ่งยากแต่อย่างไรครับ และไม่มีค่าธรรมเนียมด้วย มีหนังสือเดินทางและกรอกเอกสารนิดหน่อยก็เรียบร้อย โดยทางการมาเลเซียจะให้วีซ่า 30 วันสำหรับการเดินทางอยู่ในมาเลเซีย

จะว่าแปลกก็แปลก พอเข้ามาในแดนของมาเลเซียแล้ว ป่าของเขา กับป่าของเรา คนละเรื่องเลยครับ บ้านเรานี่โอโหแทบไม่เหลืออะไรแล้ว แต่ของเขายังเป็นอะไรที่เห็นความเป็นป่าอยู่ มีเสียงสัตว์ป่าร้องให้ได้ยิน ตลอดเส้นทาง ความร่มรื่นก็มากกว่าด้วย

ในเส้นทางนี้ เริ่มต้นก็ขึ้นเขาแล้วครับ ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร แต่ความชันของเขาลูกนี้สุดติ่งเลยครับ และเป็นความชันที่มากที่สุดที่จะเจอในการเดินทางในทริปนี้ พอพ้นตรงนี้ได้ ก็สบายๆ แล้ว

ในเส้นทางนี้จะมีร้านขายอาหารแบบข้าวแกงข้างทางบ้านเราให้ได้เห็น แต่ต้องบอกไว้ก่อนนะครับ การสั่งซื้อและราคาเขาจะคิดต่างจากบ้านเรา และตรงนี้ต้องทำความเข้าใจตั้งแต่ตรงนี้เลย

ร้านอาหารมาเลเซีย จะตักข้าวเปล่าให้ จากนั้นเราต้องไปตักกับข้าวเอาเอง จะอย่างเดียว สองอย่าง สามอย่าง จำนวนมากน้อย เขาจะคิดราคาตามนั้น ไม่มีมาตรฐานบอกชัดเจน แบบบ้านเรา เช่นของเราจะบอก 2 อย่าง 40 บาท แล้วก็ให้แม่ค้าตัก แต่ของเขา เราตักเอง แล้วไปให้แม่ค้าดู แล้วเขาถึงจะบอกราคา และจะเป็นแบบนี้ตลอดไปจนถึงกัวลาลัมเปอร์ (แต่ระบบนี้พอเลยกัวลาลัมเปอร์เพื่อมายะโฮฯ กลับไม่มีให้เห็นมากนัก)

เมืองแรกที่เราจะต้องผ่านก่อนถึง Alor Setar ก็คือ Kangar ระหว่างทางจะเห็นบ้านแบบชาวพื้นเมืองมลายูให้เห็นตลอด 2 ข้างทาง ที่สำคัญจะได้เห็น ตัวแลน (ตัวเหี้ย) วิ่งกันให้เพียบ

พื้นที่ทางตอนเหนือของมาเลเซีย ถือว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศ ดังนั้นระหว่างทางจะเห็นสินค้าทางการเกษตรให้ซื้อทานได้ตลอด ทั้งที่มาจากเมืองไทยและของมาเลเซียเอง

ที่พักในเส้นทางนี้จะมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นโฮมสเตย์ ราคาจะอยู่ประมาณ 25-30 ริงกิต โดยเขาจะติดเบอร์โทรไว้หน้าบ้าน สนใจที่จะพักก็โทรไปสอบถามกับเจ้าของเขา

ถ้ามาถึงในตัวเมือง Alor Setar แล้วแปลกแต่จริง ที่พักหาได้น้อยมาก ผมเจออยู่ที่เดียวเป็นโรงแรมเล็กๆ ดัดแปลงจากห้องแถว ราคาคืนละ 50 ริงกิต (ห้องเล็กนิดเดียว แต่เอานะ ที่พักสะอาด ปลอดภัยก็โอเคแล้ว)

ห้องพักในมาเลเซีย ถ้าเป็นคนต่างชาติ ราคาจะยืนพื้นที่ 50 ริงกิตครับ (ถึงแม้จะมีป้ายบอกว่าราคาพิเศษ 30 ริงกิตก็ตาม แต่นั่นคงจะเป็นราคาสำหรับชาวมาเลเซีย)

เมือง Alor Setar เป็นเมืองใหญ่ครับ แต่ไม่มี ไนท์คลับ หรือ ผับ แต่อย่างไร เพราะประเทศมาเลเซียเป็นอิสลาม เรื่องแบบนี้เขาเคร่งครัดมาก ผมแนะนำว่ามาถึงแล้วนอนพักก่อนเลย จากนั้นสัก 19.00 น. ก็เริ่มออกมาเดินเล่นชมเมืองของเขา ถนนในเมืองนี้ไม่ซับซ้อนครับ เดินทางถนนหลักกันเลย จากที่พักผม ห่างจากตลาดสดประมาณ 500 เมตร ดังนั้นวันนั้นผมเลยไปซื้ออาหารจากตลาดสดแห่งนี้มาทาน ราคาไม่แพงครับอยู่ประมาณ 3-5 ริงกิต แต่น้ำดื่มในมาเลย์ฯ นี่เอาเรื่องครับ ผมมาทราบตอนหลังว่าชาวมาเลย์นิยมดื่มน้ำแร่ ดังนั้นน้ำที่บรรจุขวดขายส่วใหญ่จะเป็นน้ำแร่ น้ำธรรมดาไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก

วันนี้เดินทางกันถึง Alor Setar กันก่อนครับ พรุ่งนี้จะไป สุไหงปัตตานี กัน

ปล. สภาพอากาศในมาเลเซียจะคล้ายกับทางใต้บ้านเรานี่ละครับ คือ ร้อนชื้น ตลอดปี ดังนั้นเสื้อกันฝน (ตอนเดินทางผมใช้ของ karana ตัวละ 1,000 กว่าบาท) ก็ควรจะมีติดไปด้วย เสื้อกันฝนพยายามใช้แบบที่มีความคล่องตัวนะครับ อย่าไปใช้แบบพองๆ เพราะเวลาปั่นมันจะมีลมเข้ามาข้างใน นอกจากจะทำให้หนาวแล้วยังทำให้การปั่นจักรยานลำบากยิ่งขึ้น

รูปภาพ

ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซีย
ตอนที่ 3 ไปปีนัง เมืองมรดกโลก


การเดินทางในวันที่ 3 เราจะมีจุดที่สามารถพักแรมระหว่างทาง 1 วันคือ เมืองสุไหงปัตตานี แต่ถ้าหากจะเดินทางไปถึงเมืองปีนังเลยก็ได้นะครับ ถ้าจะไปพักที่ปีนังในวันนี้ ผมแนะนำว่าขาไปเราควรจะไปข้ามเรือที่บัตเตอร์เวิร์ด แล้วขากลับค่อยปั่นออกจากปีนัง เพราะไม่อย่างนั้นจะเสียเวลาโดยใช่เหตุ (ค่าธรรมเนียมขึ้นเรือ 1.4 ริงกิต ไม่แพงหรอกครับ) ที่สำคัญสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างบัตเตอร์เวิร์ดกับปีนัง ยาวกว่า 30 กิโลเมตรทีเดียว แถมระหว่างทางแดดร้อนสุดๆ

รูปภาพ

ถ้าหากว่าคุณตัดสินใจที่จะไปพักที่ปีนัง ก็ควรจะต้องมาถึงปีนังในเวลาไม่เกิน 17.00 น. เพราะถ้าเรือหมดไม่มี จะข้ามฟากไม่ได้

แต่ถ้าคุณวางแผนจะดูบรรยากาศของเมือง สุไหงปัตตานี ก็ไม่ต้องเคร่งเครียดในการเดินทางอย่างไร เพราะถ้าปั่นด้วยความเร็วระดับที่ผมใช้ในการเดินทางคือ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และไม่เจอฝนถล่มระหว่างทาง ก็จะถึงสุไหงปัตตานีในเวลาประมาณ 14.00 น. บวกลบไม่เกิน 60 นาที ซึ่งในระหว่างนั้นคุณสามารถหาที่พักได้สบายมาก

ตอนที่ผมเดินทางนั้นผมวางแผนจะมาพักที่ปีนัง เลยไม่ได้แวะพักที่สุไหงปัตตานี

เส้นทางจาก Alor Setar มายังเมืองบัตเตอร์เวิร์ด เป็นการปั่นจักรยานขึ้นเนินเรื่อยๆ นะครับ คือไม่ได้เป็นเนินแบบเห็นชัดเจน แต่ชันนิดๆ ไปจนถึงโน่นละ บัตเตอร์เวิร์ด แถมระหว่างทางรถบรรทุกวิ่งให้เพียบ ผสมกับการมีฝนตกระหว่างทางตลอดทำให้การเดินทางในเส้นทางนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ในมาเลเซียจักรยานจะใช้ได้แต่ถนนท้องถิ่นเท่านั้น จะขึ้นไปบนทางไฮเวย์ไม่ได้ ดังนั้นเวลาดูป้ายบอกทางต้องระวัง หากเลี้ยวผิดขึ้นทางไฮเวย์ จะต้องลงและย้อนกลับมา เสียเวลามาก

เรื่องอาหารไม่ต้องห่วงครับ ระหว่างทางมีร้านอาหารของชาวบ้านข้างทางและร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ให้เห็นแล้ว แต่ 7-11 ของเขากับทางบ้านเราจะต่างกันนะครับ คือของเขาเป็นร้านเล็กๆ สินค้ามีไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ อาหารอย่างพวกบะหมี่สำเร็จรูปที่เห็นบ่อยๆ คือ แม็กกี้ มียี่ห้ออื่นบ้างก็เป็นของมาเลย์ แต่ก็ไม่เยอะเท่าไหร่ เรื่องอาหารที่ขายตามร้านค้าระหว่างทาง หากเป็นช่วงเทศกาลถือศีลอด ร้านค้าจะปิดยาวเลยนะครับ ดังนั้นถ้าไม่อยากจะมีปัญหาในเรื่องหาร้านอาหาร ก็ควรจะเดินทางหลังเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม

การเดินทาง เราจะต้องถึงเมืองสุไหงปัตตานีก่อน ดังนั้น ดูป้ายบอกทางว่าไปสุไหงปัตตานีอย่างเดียว ไม่ต้องมองทางไปเส้นอื่น ถ้า งง ให้ถามคนข้างทางเลยครับว่า สุไหงปัตตานี วิธีถาม ตอนจอดรถสี่แยกไฟแดง ถามแถวนั้นละได้ผลที่สุด ถ้าไปโบกรถเพื่อถามเส้นทาง เขาไม่จอดให้ครับ

ช่วงเข้าตัวเมืองสุไหงปัตตานีจะไปบัตเตอร์เวิร์ด จะมีงงนิดหน่อย เพราะมีสี่แยกและสี่แยกนี้ก็ไม่บอกเสียด้วยว่าเลี้ยวไหนจะไปบัตเตอร์เวิร์ด

ถ้ามาถึงตรงนี้ให้ตรงไปครับ จะเห็นหอนาฬิกาอยู่ ถนนเส้นนี้ละที่จะไปบัตเตอร์เวิร์ด ไม่แน่ใจ ถามชาวมาเลย์ที่เดินอยู่แถวนั้นได้

รูปภาพ

ผมอยากแนะนำให้พักที่ สุไหงปัตตานี แต่ถ้าไม่พัก

เดินทางต่อมาบัตเตอร์เวิร์ดกันเลย ช่วงนี้ถ้าฝนตก ต้องระวังให้มาก เพราะรถใหญ่เยอะ ถนนลื่น และบ้านเขาจะไม่มีศาลาข้างทางให้หลบแดด หลบฝนอย่างบ้านเรา ช่วงนี้แหละเสื้อฝนได้ใช้อย่างแน่นอน

ไหล่ทางของถนนท้องถิ่นมาเลย์จะแคบมากและสภาพถนนก็ไม่ได้ดีอะไรมากมายนัก ดังนั้นเวลาปั่น ให้ “อยู่ในเลนของตัวเอง” เป็นหลัก อย่าไปเสียสมาธิกับรถหลัง เขาจะหาทางหลบเราเอง (คนมาเลย์นี่แปลก ขับรถยนต์เร็วอิ๊บอ๋าย)
หากคุณมาถึงบัตเตอร์เวิร์ดช้า ไม่มีเรือจะข้ามฟากไป ถ้าจะปั่นจักรยานข้ามไปปีนังก็ได้ครับ จากบัตเตอร์เวิร์ดไปถึงสะพานก็ประมาณ 12 กิโลฯ และสะพานฯ จะยาวประมาณ 30 กิโลฯ รวมแล้ว 42 กิโลเมตร

แต่ถ้าจะพักที่บัตเตอร์เวิร์ด มีโรงแรมเล็กอยู่ใกล้ๆ กับธนาคารฮ่องกง แอนด์ เซี่ยงไฮ้ แบงค์ (HSBC) ราคาคืนละ 50 ริงกิต ซึ่งถูกสุดแล้ว ที่นี่ที่พักจะอยู่ราวๆ 80 ริงกิตขึ้น แต่ถ้าข้ามฟากไปปีนัง ที่พักแบบนอนรวมราคาถูกสัก 18-20 ริงกิตมีให้เลือกเพียบครับ

รูปภาพ

กรณีถ้าข้ามฟากมาปีนัง และจะมาหาที่พัก ให้ถามเลยครับว่า “วัดแขก (India Temple – Mahamariaman Temple) อยู่ที่ไหน” ห่างจากท่าเรือไม่ไกลครับ ประมาณกิโลนิดๆ พอถึงวัดแขก ให้ถามหา ถนนจูเรีย (Chulia) บริเวณนี้ละครับที่พักเพียบ ทั้งถูกทั้งแพงมีหมด เลือกเอาตามใจชอบ

ถึงปีนังกันแล้ว เข้าที่พัก พักผ่อนอาบน้ำอาบท่ากันก่อน พรุ่งนี้ค่อยลุยเมืองปีนังกันครับ

รูปภาพ

ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียกัน
ตอนที่ 4 ปีนังเมืองมรดกโลก

หลังจากที่เดินทางมาถึงปีนังและเข้าที่พักเรียบร้อยแล้ว ผมอยากแนะนำให้พักอยู่ที่ปีนังสัก 2 วันครับคือวันแรกที่มาถึงนะไม่ได้ไปไหนแน่ๆ เพราะมาก็เย็นแล้ว ส่วนอีก 2 วัน นั้นวันแรกก็เที่ยวรอบๆ เกาะ ส่วนวันที่ 2 ออกไปเดินป่า การพักที่ปีนังซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้เราสามารถประหยัดค่าที่พักได้อย่างดี 3 คืนของการอยู่ที่นี่ เท่ากับ 1 วันของเมืองธรรมดา และที่สำคัญราคาอาหารการกินของปีนังไม่ถือว่าแพงมากนัก แต่ที่นี่อาหารอินเดียเยอะมาก คุณจะได้เห็นชาวมาเลย์เชื้อสายอินเดียเพียบไปหมด ถ้าทานอาหารอินเดีย มื้อหนึ่งก็จะตกประมาณ 13-16 ริงกิต (มื้อใหญ่ ทานแล้วอิ่มมีแรงเดินได้จนถึงอีกมื้อ) แต่ถ้าอาหารจีนจะแพงหน่อย

รสชาติของอาหารทางมาเลย์อาจจะไม่ค่อยถูกปากคนไทยเรามากนัก เพราะหนักมาทางจืด คำว่าเผ็ดนี่แทบไม่มีให้เห็นเลย และในร้านอาหารในปีนัง ถ้าจะให้บริการแบบเนี้ยบๆ แบบบ้านเรานี่เลิกหวังเลยครับ ที่นี่เขาบริการแบบพื้นฐานอย่างแท้จริง
เรื่องการเที่ยวในตัวปีนัง เราสามารถเดินเที่ยวได้สบายๆ ครับ เดินเรื่อยๆ แดดร้อนหน่อย แต่ไม่ถึงกับดุเดือดเลือดพล่าน แต่ถ้าจะเที่ยวรอบนอก ผมแนะนำให้ไปกับบริษัททัวร์ครับ จะสะดวกกว่าเยอะ และราคาก็ไม่แพงมาก 50-60 ริงกิต ก็สามารถจะได้โปรแกรมทัวร์ดีๆ ใน 1 วันทีเดียว สำหรับผมเลือกเดินป่าเพราะโดยส่วนตัวผมชอบแบบนั้นเลยถือโอกาสซะเลย

สบายๆ กับปีนังให้คุ้มกับการเดินทาง ตกดึกก็มานั่งจิบเบียร์กันที่ผับเล็กๆ ราคาเบียร์ของที่นี่จะตกอยู่ขวดละ 8-12 ริงกิตแล้วแต่ยี่ห้อ ส่วนผมเลือกเบียร์ช้างบ้านเราครับ ราคาไม่แพงพอทานได้ 8.5 ริงกิต

เก็บแรงไว้ครับ อีก 3 วัน หลังจากออกปีนัง งานนี้ของจริง วันนี้ถ่ายภาพ ชมบรรยากาศ และสัมผัสเมืองมรดกโลกอย่างปีนังให้คุ้มครับ

ภาพบรรยากาศเมืองปีนังครับ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซีย
ตอนที่ 4 ออกเดินทางต่อไป คาเมรอน


รูปภาพ

หลังจากที่ได้พักที่ปีนัง 2 วัน 3 คืน ตอนนี้เราก็จะเดินทางกันต่อแล้วครับ สำหรับผมช่วงนี้ถือว่าโหด มันส์ ฮา ที่สุด ครบทุกรสชาติทั้งแดด ลม ฝน รวมถึงถนนที่สภาพสุดยอด

เริ่มออกจากปีนัง ก็จะเป็นสะพานข้ามฟากเพื่อมาบัตเตอร์เวิร์ด เฉพาะระะยะทางของสะพานนี่เกือบ 14 กิโลเมตร และสะพานนี้ไม่ได้ออกแบบไว้ให้สำหรับรถจักรยานเลย ที่หลบแดดเลยไม่มีให้ครับ ขอบทางก็เล็กมาก เทคนิคการปั่นบนสะพานนี้คือ ปั่นไปตามความรับผิดชอบของตัวเอง อย่าไปสนใจความเร็วของบรรดารถยนต์ทั้งหลายที่ผ่านไป ไม่อย่างนั้นจะเกิดจิตหลอนได้

แผนการณ์ของผมที่วางไว้ก็คือจะไปเมือง อิโปร์ จากนั้นก็จะไปกัวลาลัมเปอร์ผ่านทางคาเมรอน โดยจะอยู่บนคาเมรอน 3 วัน 2 คืน ดังนั้นแผนการณ์เดินทางช่วงนี้ก็จะเป็น

1 วันที่ เมือง ไทปิง
1 วันที่ เมือง อิโปร์
3 วันที่ คาเมรอน

เส้นทางจากปีนัง ถึง อิโปร์ไม่มีอะไรจริงๆ ครับคือเดินทางเพื่อมาถึงอิโปร์เพื่อขึ้นคาเมรอน แดดร้อน รถใหญ่เยอะมาก ที่พักจัดว่าราคาแพงเอาเรื่องเลย (60 ริงกิต ขึ้นไป ผมพยายามหาที่อยู่ในงบ 50 ริงกิต หาเท่าไหร่หาไม่ได้ ส่วนโฮมสเตย์ ไม่มีเลยครับในระหว่างทาง) คือถ้าใครมีเวลาไม่มากพอ ผมแนะนำให้นั่งรถจากปีนังมาที่อิโปร์เลยครับ แล้วมาตั้งต้นขึ้นคาเมรอน (นั่นหมายความว่าคุณวางแผนจะไปกัวลาลัมเปอร์เส้นนี้ แต่ถ้าจะไปกัวลาลัมเปอร์อีกเส้นทางคือเส้นเลียบชายฝั่งทะเลแล้วมีเวลา ก็ปั่นมาเรื่อยๆ ได้ครับ น่าจะสัก 4 วัน ถ้าจากปีนังมากัวลาลัมเปอร์

ตัดมาที่การเดินทางในช่วงที่ถือว่าหินสุด หนาวสุด และ สวยสุดๆ ในทริปนี้ครับ จากอิโปร์ขึ้นคาเมรอน ระยะทางเกือบ 70 กิโลเมตร (เฉพาะขึ้นเขาครับ) ดุเด็ดเผ็ดมันส์ถึงใจ ขึ้นอย่างเดียว นี่ถ้าผมไม่เคยขึ้นภูเขาโหดๆ อย่าง “ดอยปางฆ่า” ที่จังหวัดน่านมาก่อนแล้ว คงจะเป็นปัญหาหนักเอาเรื่อง

แต่ถ้าคุณเคยปั่นจักรยานเส้นเหล่านี้แล้วผ่านได้ คุณก็ผ่านเส้นคาเมรอนได้เช่นกัน

1) เส้น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่
2) เส้น น่าน เชียงม่วน อำเภอปัว
3) ดอยอินทนนท์
ปัญหาใหญ่ของเส้นทางนี้คือความสูงครับ เหนื่อยง่ายมาก เพราะออกซิเจนเบาบาง แล้วผมก็ไม่เคยเจอความสูงในระดับนี้มาก่อน กว่าจะปรับระบบการหายใจของตัวเองให้เข้าที่เข้าทางได้ เล่นเอาเป็นหมาหอบแดดไปหลายรอบ (เรื่องความร้อนของแดดไม่ต้องห่วงครับ บ้านเรากินขาด โดยเฉพาะเส้น ตาก สุโขทัยไปพิษณุโลก เหนือชั้นกว่าเส้นทางต่างๆ ในมาเลเซียเยอะครับ)

ผมออกจากอิโปร์ประมาณ 8.00 ถึงคาเมรอน ประมาณ 17.00 น.โดยประมาณ (หมายถึงยอดบนสุดนะครับ แต่ระหว่างทางก็มีที่พัก) สาเหตุที่ผมปั่นมาถึงบนสุด เพราะที่นี่มีเกสเฮ้าส์ราคาถูกให้บริการครับ ผมเลือกได้ถูกสุด ว่างอยู่ 1 ที่พอดี เป็นห้องนอนรวม 8 คน ราคา 18 ริงกิตต่อวัน (ห้องพัดลม) แต่อากาศที่บนนี้เย็นอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องนอนห้องแอร์ให้เปลืองตังค์

วันนี้เข้าที่พักบนคาเมรอนเรียบร้อย เดี๋ยวพรุ่งนี้มาเล่าต่อกับการเดินทางชมความงดงานของแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซีย

ตอนนี้พักก่อน ลุงอ้วนกลม จะแย่แล้ว

ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซีน ตอนที่ 6 คาเมรอน ไฮแลนด์

รูปภาพ

การอ่อนล้าของกล้ามเนื้อจากปั่นขึ้นเขาเพื่อมาถึงจุดบนสุดของคาเมรอนไฮแลนด์ ได้บรรเทาไปเยอะหลังจากที่ได้มาพักที่เกสเฮ้าส์ และจิบเบียร์เย็นๆ สักสองกระป๋องบนที่พัก ที่พักของที่คาเมรอน มีหลายราคาและหลายระดับ แต่ถ้าอยากจะได้แบบถูกสุด ก็ต้องมาบนยอดเลยครับ ก็อย่างที่ผมบอกผมได้ทีนอนแบบห้องรวม 8 คน ในราคา 18 ริงกิตต่อวัน ซึ่งถือว่าถูกมาก ปรกติห้องพักแบบนี้จะไม่รับคนเอเชีย ยกเว้นจะเป็นชาวญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ที่ทางเกสเฮ้าส์ยอมให้พัก สำหรับผมพอเห็นหนังสือเดินทางว่าเป็นคนไทย เขาก็ทำอิดๆ ออดๆ อยู่เหมือนกัน แต่เพราะเห็นปั่นจักรยานเดินทางมาไกลจากเมืองแม่ฮ่องสอน เลยอนุโลมให้พักได้

การพักแบบห้องพักรวมถึงแม้จะมีคนต่างหน้าต่างตาพัก แต่ก็ดีอย่างครับ นักท่องเที่ยวเหล่านี้จะไม่มีเรื่องขโมยอะไรให้เกิดเรืองเกิดราวเลย ของใครก็ของมัน มันมีไปยุ่ง จะมีบ้างก็คือไปจัดวางไว้อีกที่อะไรทำนองนี้ แต่เรื่องที่ต้องระวังสำหรับการนอนรวมคือเรื่องการเจ็บป่วย เพราะถ้าใครเป็นสักคนอย่างไข้หวัดละก้อ มีหวังติดกันทั้งหมด ดังนั้นกฎของที่พักก็คือถ้าป่วยเขาจะไม่ให้พักแบบห้องนอนรวมกัน ต้องไปพักห้องเดี่ยว ซึ่งราคาพื้นฐานอยู่ที่ 35-40 ริงกิต ส่วนเรื่องนอนกรนซึ่งเป็นปัญหาของการนอนรวมกัน ไม่ค่อยมีปัญหากับผมนัก เพราะเตรียมที่อุดหูมาเรียบร้อย ลดความดังมาอยู่ในระดับที่สามารถนอนได้เป็นปรกติ (ถ้าคิดจะนอนห้องรวม ต้องมีไว้เลยครับ จำเป็น)

เรื่องอาหารการกินบนนี้ก็เหมือนทั่วๆ ไปของที่ผ่านมาละครับ อาหารแขกเพียบๆ โดยเฉพาะพวก “นัน” มีให้เลือกทานเยอะแยะไปหมด ราคาก็ตกประมาณ 13-15 รืงกิต (อาหาร 1 มื้อราคาเกือบเท่าที่พัก 1 คืนเลย) ส่วนอาหารจีนก็มีให้เห็นบ้าง แต่ถ้าหากไปทานอาหารจานด่วน อย่างที่ผมบอกแต่ต้น เขาจะให้เราตักเองหรือชี้ให้เขาตักให้ ยิ่งมากอย่างยิ่งแพง ราคาไม่มีมาตรฐานตายตัว อยู่กับปริมาณและกับข้าวที่ตักขึ้นไป แต่ราวๆ แล้วจะอยู่ที่ 10-12 ริงกิต

คาเมรอนเป็นเมืองท่องเที่ยวที่น่าสนใจมาก อากาศหนาวตลอดทั้งปี มีฝนบ้าง ทีสำคัญคือไร่ชาครับ สวยมากและแต่ละต้นเห็นต้นเล็กๆ บางต้นอายุ 100 กว่าปีแล้ว ดังนั้นถ้ามาถึงที่นี่ต้องแวะมาเที่ยวไร่ชาครับ ไม่อย่างนั้นถือว่าไม่ผ่านคาเมรอน
2 วันที่จะเที่ยวในคาเมรอน ผมแนะนำให้ไปกับบริษัททัวร์ท้องถิ่น ราคาไม่แพงครับ 80-100 ริงกิต ก็สามารถได้ทัวร์ 1 วันที่น่าสนใจ หรืออยากจะลุยเดินป่าสั้น ก็อยู่ราคาประมาณ 200-300 ริงกิต ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ไม่แพงแต่อย่างไร

บรรยากาศตอนดึกๆ ของคาเมรอน น่าสนใจมากครับ สัก 2 ทุ่มออกมาเดินจะเป็นแสงไฟส่องสว่างเป็นจุดๆ ตามเนินต่างๆ สวยมาก ยิ่งจิบเบียร์เย็นๆ บนนี้แล้วดูทิวทัศน์ แล้วคุณอยากจะพักที่นี่ต่อเป็นอาทิตย์เลย แต่ 2 วันพอแล้วครับ เพราะเรายังมีการเดินทางข้างหน้าที่รออยู่ พรุ่งนี้เราจะออกจากคาเมรอนเข้ากัวลาลัมเปอร์กันแล้ว
แก้ไขล่าสุดโดย jackal2008 เมื่อ 23 ก.ค. 2015, 15:41, แก้ไขแล้ว 8 ครั้ง
รูปประจำตัวสมาชิก
เสือหงอย
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 3496
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 ส.ค. 2008, 18:28
Tel: -
team: ชมรมจักรยานจังหวัดชุมพร
Bike: surly lht,trek 520,spec.

Re: ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์กัน

โพสต์ โดย เสือหงอย »

ติดตามครับ ว่าจะไปเดือน ตค.นี้เหมาะเลย
รูปประจำตัวสมาชิก
jackal2008
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 1388
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 ก.พ. 2009, 14:23
Tel: 087.198.0944
team: none
Bike: Fuji Touring 2016

Re: ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์กัน

โพสต์ โดย jackal2008 »

เกร็ดเพิ่มเติมครับ มีคำถามมาว่า ถ้านำเต็นท์กับถุงนอนไปด้วยจะดีไหม

เต็นท์ ไม่จำเป็นเลยครับ เพราะในมาเลเซียกับสิงคโปร์นี่ไม่เหมือนบ้านเรานะครับ อยู่ดีๆ จะไปกางเต็นท์ไม่ได้ ถ้ามีเหตุจำเป็นจริงๆ เดินทางไม่ถึงที่พักหรือเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆ ให้โทรหาตำรวจเขาเลยครับ ทางตำรวจเขาจะมีรถมาบริการให้ ถ้าจะโบกรถ คนมาเลเซียเขาจะไม่รับนะครับ ไม่ใช่เขาใจดำ แต่เป็นบุคลิกภาพของเขา

ถุงนอน เอาไปด้วยก็ดีครับ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง แต่เอาแบบสัก 18 องศา ก็เหลือเฟือ แล้ว
รูปประจำตัวสมาชิก
jackal2008
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 1388
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 ก.พ. 2009, 14:23
Tel: 087.198.0944
team: none
Bike: Fuji Touring 2016

Re: ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์กัน

โพสต์ โดย jackal2008 »

สภาพอากาศในมาเลเซียจะคล้ายกับทางใต้บ้านเรานี่ละครับ คือ ร้อนชื้น ตลอดปี ดังนั้นเสื้อกันฝน (ตอนเดินทางผมใช้ของ karana ตัวละ 1,000 กว่าบาท) ก็ควรจะมีติดไปด้วย เสื้อกันฝนพยายามใช้แบบที่มีความคล่องตัวนะครับ อย่าไปใช้แบบพองๆ เพราะเวลาปั่นมันจะมีลมเข้ามาข้างใน นอกจากจะทำให้หนาวแล้วยังทำให้การปั่นจักรยานลำบากยิ่งขึ้น สีของเสื้อกันหนาว ให้บาดลูกตามากที่สุด ถ้าได้สี แดงอมชมพูนิดๆ เวลาขับตอนมีฝนตก รถยนต์ที่อยู่ข้างหลังจะเห็นเราได้ชัดกว่าสีอื่น (ห้ามใช้สีเข้มเด็ดขาด ส่วนสีฟ้าอ่อน ก็ไม่ควรใช้)
รูปประจำตัวสมาชิก
jackal2008
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 1388
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 ก.พ. 2009, 14:23
Tel: 087.198.0944
team: none
Bike: Fuji Touring 2016

Re: ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์กัน

โพสต์ โดย jackal2008 »

เสือหงอย เขียน:ติดตามครับ ว่าจะไปเดือน ตค.นี้เหมาะเลย
สนใจไปตลุยเกาะใหญ่อีกเกาะของมาเลเซียด้วยกันไหมครับ เส้นนี้ยังไม่มีนักปั่นคนไหนในโลกนี้ทำการเดินทางและบันทึกเรื่องราวเป็นแบบทางการที่ชัดเจนเลย
technicbike101
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 192
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ก.ย. 2014, 14:21

Re: ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์กัน

โพสต์ โดย technicbike101 »

ขอติดตามครับ
hotmail
สมาชิก
สมาชิก
โพสต์: 39
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 12:02
team: อิสระ
Bike: Miyata Lemans

Re: ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์กัน

โพสต์ โดย hotmail »

:idea:
เสือหิมาลัย
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 350
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2014, 18:13
Tel: 0852662190
team: ไม่มี
Bike: wheeler proride3900
ติดต่อ:

Re: ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์กัน

โพสต์ โดย เสือหิมาลัย »

jackal2008 เขียน:เกร็ดเพิ่มเติมครับ มีคำถามมาว่า ถ้านำเต็นท์กับถุงนอนไปด้วยจะดีไหม

เต็นท์ ไม่จำเป็นเลยครับ เพราะในมาเลเซียกับสิงคโปร์นี่ไม่เหมือนบ้านเรานะครับ อยู่ดีๆ จะไปกางเต็นท์ไม่ได้ ถ้ามีเหตุจำเป็นจริงๆ เดินทางไม่ถึงที่พักหรือเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆ ให้โทรหาตำรวจเขาเลยครับ ทางตำรวจเขาจะมีรถมาบริการให้ ถ้าจะโบกรถ คนมาเลเซียเขาจะไม่รับนะครับ ไม่ใช่เขาใจดำ แต่เป็นบุคลิกภาพของเขา

ถุงนอน เอาไปด้วยก็ดีครับ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง แต่เอาแบบสัก 18 องศา ก็เหลือเฟือ แล้ว
ติดตามค่ะ "เดินทางไม่ถึงที่พักหรือเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆ ให้โทรหาตำรวจเขาเลยครับ" บริการนี่คืออะไรคะ ไปส่งที่พัก หรือเปล่าคะ
รูปประจำตัวสมาชิก
jackal2008
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 1388
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 ก.พ. 2009, 14:23
Tel: 087.198.0944
team: none
Bike: Fuji Touring 2016

Re: ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์กัน

โพสต์ โดย jackal2008 »

ถูกต้องแล้วครับ ทางตำรวจเขาจะมาบริการส่งถึงที่พักให้ ของผมมาถึงตรงนี้ก็เกือบต้องใช้บริการเหมือนกัน เพราะยางหลังดันมารั่วเอาอีกประมาณ 15 กิโลเมตรจะถึงบัตเตอร์เวิร์ด แล้วบรอมตันนี่ ถ้ายางหลังรั่วแล้วทำไม่เป็นนี่ เรื่องใหญ่เลยครับ เพราะร้านทั่วไปจะทำไม่เป็น ฮาๆ แต่สุดท้ายคลำจำวิชาที่อาจารย์ใหญ่ภูมิ สอนได้ เลยรอดตายปั่นต่อมาได้ แต่ก็มาถึงซะดึกเลย
รูปประจำตัวสมาชิก
ครูหาด
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 814
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ค. 2014, 15:58
Tel: 0910489183
team: นาหม่อม
Bike: TREK / ARAYA / PANASONIC

Re: ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์กัน

โพสต์ โดย ครูหาด »

:D ติดตามชมครับ
ตัวแลน คือตะกวด ไม่ใช่เหี้ย ครับ
HS 9 LMZ
ยังไม่ลอง รู้ได้ไงว่าทำไม่ได้
Begin.
สมาชิก
สมาชิก
โพสต์: 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 พ.ค. 2015, 11:58
Tel: 099-306-4641

Re: ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์กัน

โพสต์ โดย Begin. »

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ ที่เอามาแบ่งปันนะครับ
ThaNanSak
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 1224
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 พ.ค. 2012, 15:04
Tel: 0869637278
team: No
Bike: Giant XTC 29er
ตำแหน่ง: 635 หมู่ 1 ถ. บ้านหน้าควนลัง-บ้านพรุ ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90114

Re: ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์กัน

โพสต์ โดย ThaNanSak »

อนุญาตเก็บกระทู้ไว้เป็นแรงบันดาลใจครับ
เสือเอก 2 ทะเล
Art Mania
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 341
ลงทะเบียนเมื่อ: 26 เม.ย. 2012, 11:02
Tel: 084-120-0004
team: EZ Rider Society
Bike: Panasonic, Cipollini

Re: ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์กัน

โพสต์ โดย Art Mania »

ไม่ทราบว่า จากสตูลไป ปีนัง พี่มีเบอร์เลขถนน เก็บไว้มั้ยครับ จะลองขอมาศึกษาเส้นทางหน่อยครับ
ติดต่อ : คุณเหน่ง EZ rider Society
Line ID : nengyellow
sangthong
สมาชิก
สมาชิก
โพสต์: 39
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 มี.ค. 2015, 18:12
Tel: 0868082348
team: เสือยิ้ม
Bike: GIANT

Re: ปั่นจักรยานเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์กัน

โพสต์ โดย sangthong »

สุดยอดเลยครับ ผมขอสำเนาเลยนะครับ
ตอบกลับ

กลับไปยัง “สรุปทริป / รายงานการปั่น”