สายด่วนจากอเมริกา รายงานสด"ทางสู่ฝัน" นักปั่น 2 ล้อไทย
*พนิดา สงวนเสรีวานิช* ภาพจาก www.thaibikeworld.com

และแล้วการเดินทางรอบโลกครั้งแรกด้วยจักรยานสองล้อของสาว-หนุ่มไทย *อรวรรณ-เจริญ โอทอง* ก็ผ่านพ้นเส้นทางมาได้กว่าครึ่งทางฝัน
2 ปี 11 เดือนมาแล้ว นับจากวันเริ่มต้นเดินทางออกจากประเทศไทย 30 พฤศจิกายน 2544 กับความตั้งใจ "เดินทางรอบโลกด้วยรถจักรยาน 2 ล้อ"
แม้ว่าเมื่อปีกลายระหว่างที่เดินทางอยู่ในเมืองริโอบามบ้า ประเทศเอกวาดอร์ ทั้งคู่จะประสบเหตุการณ์อันเลวร้าย ถูกโจรปล้น ชิงทรัพย์สินของมีค่าไปเกือบหมดตัว รวมทั้งคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กด้วย คนทั้งคู่ยังคงอาศัยจักรยานสองล้อเป็นพาหนะมุ่งตามความฝันกับการเดินทางรอบโลกตามที่ตั้งใจไว้
วันนี้ทั้งคู่เพิ่งเสร็จสิ้นจากการปั่นข้ามเทือกเราร็อกกี้ เทือกเขาที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยระยะทางราว 2,000 กิโลเมตร โดยใช้เวลานานเกือบ 2 เดือน
*อรวรรณ* ยกหูโทร.ข้ามทวีปจากเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา มาบอกเล่าถึงความทุกข์สุข ความภาคภูมิใจกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากเดินทางทริปนี้ให้มติชนฟังด้วยน้ำเสียงที่แจ่มใส
"เดินทางมาถึงชิคาโกแล้วค่ะ สุขภาพแข็งแรงดี ตอนนี้ฟิตมาก เพิ่งปั่นข้ามเทือกเขาร็อกกี้ค่ะ ระยะทางประมาณ 2,000 กิโลเมตร"
การปั่นข้ามเทือกเขาร็อกกี้นับเป็นความสำเร็จหนึ่ง หลังจากที่ได้เตรียมความพร้อมของร่างกายอย่างหนักก่อนจะออกเดินทาง อาทิ ด้วยการทดสอบปั่นขึ้นเขาใหญ่ ปั่นจากหลวงพระบางไปยังเวียงจันทน์(สปป.ลาว) และทดสอบจริงด้วยการปั่นจากขอนแก่นเข้ากรุงเทพฯ
เธอเล่าว่า แต่ละประเทศบนเส้นทางปั่นจักรยาน เธอได้พบเจอคนดีๆ พบเจอมิตรภาพและเรื่องประทับใจมากมาย เช่น ไมตรีจิตที่ได้รับจากคุณลุงเจ้าของร้านอาหารแห่งเดียวกลางทะเลทราย ในประเทศเปรู อเมริกาใต้ ซึ่งหาไม่ได้ในที่ไหนอีกแล้ว
"ตอนนั้นเราไปถึงที่ร้านประมาณ 4 โมงเย็น เข้าไปถามราคาข้าวกับปลาทอด เจ้าของร้านก็บอกว่าไม่ต้องจ่าย ยินดีเลี้ยงอย่างดี วรรณก็แปลกใจ ไม่คาดคิดว่าจะได้ยินอย่างนั้น ปรากฏว่าคุณลุงเคยเห็นเราทางทีวี เพราะตอนที่เรามาถึงเปรู สื่อของที่นี่มาทำข่าวของเราและเผยแพร่ไปทั่ว
"คุณลุงเอาหนังสือมาให้ดู ซึ่งไม่ได้มีแค่ข่าวของเรา ยังมีเรื่องของนักปั่นข้ามทวีปอเมริกา แล้วก็มีชาวญี่ปุ่นที่เดินเท้ารอบโลก คุณลุงยังบอกอีกว่า ไม่ต้องเดินทางต่อไปไหนแล้ววันนี้ พักที่นี่เลยนะ หลังบ้านมีห้องพักว่าง มีห้องน้ำในตัว เราก็เลยพักอยู่ที่นั่น 2 คืน เรียนรู้วิถีชีวิตของคนเปรู โดยเฉพาะชีวิตของคุณลุง ซึ่งน่าสนใจมาก อยู่ที่นี่(กลางทะเลทราย) ไม่มีไฟฟ้า จึงต้องปั่นไฟ น้ำก็ต้องซื้อจากรถบรรทุก แม้แต่ทีวีก็ใช้ไฟจากแบตเตอรี่"
ประสบการณ์อีกแห่งที่สร้างความประทับใจให้กับอรวรรณคือ เมื่อครั้งที่อยู่ในรัฐแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา กับมิตรภาพที่เจ้าของโรงแรม Trail End Motel โรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่งมอบให้
"เราเข้าไปสอบถามราคาห้องพัก เพราะเรามีเงินไม่มาก ส่วนใหญ่จะนอนเต๊นท์ ยกเว้นเวลาฝนตกก็จะหาที่พักราคาถูก
เจ้าของร้านบอกราคา 40 ดอลลาร์ ทีแรกเราก็ต่อรองราคา เขาก็เลยบอกว่ามีห้องพักอีกห้องราคา 30 ดอลลาร์ สนใจมั้ย เราดูห้องพักแล้วก็เลยตกลงพักที่นั่น จ่ายเงินเป็นที่เรียบร้อย สักพักเขาก็โทร.เข้ามาถามว่าจะใช้อินเตอร์เน็ตมั้ย เขามีสายบรอดแบนด์จะต่อสายให้ฟรี จะได้ใช้อินเตอร์เน็ตได้
เรารู้สึกประทับใจมากก็เลยเอารูปการเดินทางของเราให้ดู รูปที่เคยลงหนังสือพิมพ์ เขาดูแล้วสักพักก็ออกไปแล้วกลับเข้ามาใหม่ พร้อมกับคืนเงิน 30 ดอลลาร์ให้เรา บอกว่าพรุงนี้เขาจะติดต่อให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมาสัมภาษณ์ แล้วก็โทร .บอกเพื่อนของเขาให้มารับเราไปขี่ม้า ไปดูวิถีชีวิตของชาวแคนซัส"
อาจจะเป็นเพราะความรู้สึกถูกชะตาก็เป็นได้ อรวรรณเล่าว่า ปกติก็มีนักปั่นจักรยานข้ามอเมริกาเคยมาพักที่โรงแรมนี้ แต่เขาก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือทุกคน
4 วันของการพักอยู่ที่โรงแรมเล็กๆ แห่งนี้ เรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ของคนท้องถิ่น ด้วยอัธยาศัยแบบคนไทย ทำให้สองหนุ่ม-สาวไทยคู่นี้นอกจากจะทำหน้าที่เป็นเหมือนทูตวัฒนธรรมไทยแล้ว ที่สุดก็ได้ใจ กลายเป็นเพื่อนต่างวัยกับลุงบ๊อบ ไวนีโอ เจ้าของโรงแรมผู้อารี
"เขาเล่าความฝันของเขาให้ฟังว่า อีกไม่กี่ปีเขาก็จะขายกิจการโรงแรมทั้งหมดนี้ เอาเงิน 1 แสน 5 หมื่นดอลลาร์ ไปซื้อเรือแล้วพายไปรอบโลก"
อรวรรณและเจริญพักอยู่ที่นั่น 4 วัน เพราะเป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีแขก ทั้งคู่ช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ เช่น เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ช่วยยกแอร์ "เขาแขนไม่ค่อยดี อายุสัก 60 ได้ ใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ดูแลโรงแรมขนาด 26 ห้อง โดยมีสุนัขอีกตัวเป็นเพื่อน วันหนึ่งก็เรียกเรามาแล้วเอาเงินให้เพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเรา แต่เราก็ไม่รับ เพราะเขาอุตส่าห์ช่วยเหลือเราให้ที่พักฟรี ทำอาหารให้ 3 มื้อ ก็เลยบอกให้เขาเก็บไว้เถอะ เขาก็มีความฝันของเขา
เขาน้ำตาไหลด้วยความซาบซึ้ง แล้วบอกว่าเขายินดีจะให้เรามาพักอีก ถ้าเราปั่นข้ามอเมริกาเสร็จกลับมา"
ส่วนเส้นทางการเดินทางต่อจากนี้ อรวรรณบอกว่า ทีแรกว่าจะเดินทางไปยุโรป แต่เนื่องจากตอนนี้ยุโรปกำลังอยู่ในช่วงหน้าหนาว จึงอาจจะเปลี่ยนเส้นทางไปแอฟริกา ซึ่งก็ต้องรอดูสถานการณ์ทางแอฟริกาด้วย ถ้ารู้สึกว่าไม่ปลอดภัยก็จะยังพักอยู่ในอเมริการอจนทางยุโรปเข้าหน้าฤดูใบไม้ผลิจึงจะเดินทางต่อไป
นั่นเพราะเหตุการณ์ที่เอกวาดอร์นับเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ทำให้การเดินทางแต่ละครั้งจะต้องระวังทุกฝีก้าว ต้องมีการหาข้อมูล หาคนปรึกษาดูที่ทางให้มากที่สุด เนื่องจากแต่ละแห่งย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี
ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางนั้น อรวรรณเล่าว่า แม้จะได้ความช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้สามารถปั่นมาได้ครึ่งโลก ยังได้เงินช่วยเหลือจากคนทั่วไปที่พบเจอระหว่างเดินทาง แต่ก็ยังต้องเดินทางไปหาสปอนเซอร์ไป บ่อยครั้งก็มีผู้ให้ความช่วยเหลือผ่านทางเว็บไซต์ www.thaibikeworld.com ซึ่งตอนนี้มีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมกว่า 99,000 คน
"คาดว่าอีก 2 ปี เราน่าจะเสร็จสิ้นการเดินทางรอบโลก สิ่งที่เราได้คือ ประสบการณ์และมิตรภาพ เราได้เจอคนมากมาย และรู้สึกภูมิใจที่ได้ไปปักธงไทยมาครึ่งโลกแล้ว
ที่สำคัญคือ อยากให้การเดินทางของเราช่วยจุดประกายให้กับหลายๆ คน รวมทั้งน้องๆ ในโรงเรียน ให้กล้าที่จะทำ กล้าที่จะเดินตามฝัน"
เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจปั่นตามฝันของคนทั้งคู่แล้ว อรวรรณเล่าถึงความฝันก้าวต่อไปว่า
*"อยากจะเขียนหนังสือดีๆ สักเล่ม เป็นหนังสือที่จุดแรงบันดาลใจให้กับคนอ่าน ผลักดันให้ทุกคนกล้าเดินตามความฝัน" เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงสดใส*
แหล่งข้อมูล หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน : http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01pra01081047&show=1§ionid=0131&day=2004/10/08